วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ขอ 1 like ตามข่าวจากเราค่ะ

โหรยัน"8ตค."แป้ก ฮา"ม็อบ" มานอนรอฤกษ์ล้มปู

โหรยัน"8ตค."แป้ก ฮา"ม็อบ" มานอนรอฤกษ์ล้มปู

"อลงกรณ์"น่วม ปชป.รุมยำทวีต แต่รับข้อเสนอ แจ๊ด-โอ๊คโต้ลือ


รอ8ตุลา - ม็อบประมาณ 200 คน พากันเคลื่อนย้ายมาจากที่ชุมนุมสวนลุมพินี ปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงค่ำวันที่ 7 ต.ค. เพื่อรอฤกษ์ล้มรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 8 ตุลาคม ตามคำทำนายของโหร
สภาปฏิรูปประเทศเริ่มแล้วเติ้งนำทีมถก รอบแรกคุย "เศรษฐกิจ-สังคม" บรรหารลั่นเวทีนี้ไม่มีขาดทุน เปิดโอกาสทุกคนแสดงความเห็น "ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์" ชี้รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการนำไปปฏิบัติ ด้านมาร์คก็ประชุมปฏิรูปปชป. อลงกรณ์โดนยำคดี "ทวิตเตอร์" พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน เข้าวาระ 1 ของวุฒิสภาแล้ว โหรโสรัจจะ-อรรถวิโรจน์ ชี้ฤกษ์ "8 ตุลา"แป้ก ไร้แววรุนแรงการเมือง ม็อบล้มรัฐบาลบุกชุมนุมหน้าทำเนียบ "โอ๊ค-บิ๊กแจ๊ด"โต้ข่าวสมัครส.ส. ปัดเล่นการเมือง



เริ่มแล้วถกปฏิรูปประเทศ


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุม "เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตย และประเทศร่วมกัน" ตามแนวคิดการจัดเวทีสภาปฏิรูปประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรมว.กลาโหม โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ ในฐานะ ผู้ประสานและขับเคลื่อนเวทีกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการเมือง เป็นประธานการประชุม 

มีผู้เข้าร่วมประชุม 50 คน อาทิ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประ ชาธิปัตย์ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ และรมช.เกษตรฯ และนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วงเช้าหารือการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ และช่วงบ่ายหารือด้านสังคม จากนั้นวันที่ 9 ต.ค. จะประชุมกลุ่มย่อยด้านการเมือง



เติ้งมั่นใจเวทีนี้ไม่มีขาดทุน

นายวราเทพกล่าวก่อนเข้าประชุมว่า จะหารือโครงสร้างหลักที่จะให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในทิศทางที่ไทยควรจะเป็น โดยไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ และไม่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ หาก ได้ข้อสรุปที่ตกผลึกจะนำเข้าสู่ที่ประชุม คณะทำงานชุดใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นประธาน อีกครั้ง 

นายบรรหารกล่าวเปิดงานและชี้แจงต่อที่ประชุมถึงการเดินสายเชิญผู้เห็นต่างเข้าร่วมว่า การไปเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน อดีต นายกฯ เข้าร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศนั้น นายอานันท์ระบุว่าไม่สามารถเข้าร่วมปฏิรูปได้เนื่องจากมีบางเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรทำ เช่น กฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่นายอานันท์ยืนยันว่าไม่ใช่ไม่รับเชิญ นายอานันท์รับแต่ขอให้ตนและทุกคนได้จัดโครงสร้างทั้งหมดก่อนแล้วก็พร้อมจะเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องดี" ส่วนนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสนั้น ยินดีจะร่วมเดินหน้าประสานความร่วมมือในรอบต่อไป หากสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริง โดยเสนอสูตรสามเหลี่ยมภูเขาเขยื้อน และยอดแหลมต้องเป็นนายกฯ ด้านหนึ่งนพ.ประเวศรับดำเนินการในรูปแบบภาคีเครือข่ายประชาชน ส่วนอีกด้านเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูป

นายบรรหารกล่าวว่า ส่วนการพบกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชา ธิปไตยนั้น ถึงจะรู้คำตอบล่วงหน้าแต่ก็ต้องไป จากการหารือมีข้อแม้ 5-6 ข้อ สรุปคือไม่เห็นด้วยในการตั้งสภาปฏิรูปอีก 5-10 ปีก็ไม่สำเร็จ ซึ่งตนพยายามชี้แจงว่าทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เหมือนที่รัฐบาลเปิดเวทีให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น ไม่มีทางขาดทุน มีแต่กำไรและเสมอตัว แต่สรุปทั้ง 2 คนก็ไม่เข้ามาร่วม ซึ่งตนบอกว่าไม่เป็นไร แต่จะไปรอบ 2 อีกครั้ง ซึ่งตนไม่ซีเรียส พูดคุยอย่างกันเอง



ยันเป็นแค่ผู้ประสานทุกฝ่าย

นายบรรหารกล่าวว่า สุดท้ายฝ่ายค้าน ตนไปพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้รัฐบาลถอนกฎหมายนิรโทษกรรม และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกไป แล้วค่อยมาพิจารณาว่าสภาปฏิรูปจะเดินหน้าอย่างไร ซึ่งตนอธิบายว่าเรื่องเข้าสู่สภาไปแล้ว คงถอนลำบาก โดยเฉพาะกฎหมายนิรโทษกรรม หากสงสัยข้อไหนก็แปรญัตติ สรุปแล้วนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ มาร่วม ส่วนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนลุ่มลึกมาก แต่มีความเห็นคล้ายกับนายอภิสิทธิ์และคงมาร่วมไม่ได้ ตนบอกว่าไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย อยากให้มาร่วมกันแต่ต้องยอมในเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน

"ท่านเคยพูดไว้ว่ารัฐบาลแห่งชาตินั้นไม่เห็นด้วย สภาต้องมีฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จะมีแต่ฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ ผมจึงยุติเพียงแค่นี้ แต่ในอนาคต หากผลการหารือของคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ออกมาว่าเป็นรูปแบบใด ผมจะเดินสายอีกรอบ ต้องพยายาม ซึ่งผมพูดกับอดีตนายกฯ ชวนว่า I will try คือพยายามทำเพื่อประเทศให้ได้ และขอย้ำกับที่ประชุมอีกครั้งว่าผมไม่ใช่ประธานที่ประชุม เป็นแค่ผู้ประสานงาน และจะประสานกับทุกฝ่าย จะทำงานต่อไปเพราะอยากให้เกิดความเรียบร้อยและสำเร็จ แม้อีก 5 ปีไม่สำเร็จ ได้สักส่วนหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ ครึ่งทางก็ยังดีตามเป้าหมาย 7 ข้อที่เห็นร่วมกันและฝากเรียนถึง นายกฯ ว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาร่วมด้วย ถ้ารัฐบาลไม่ช่วย ไม่มีทางสำเร็จแน่นอน และเมื่อได้ข้อมูลในจุดปลายน้ำแล้ว รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายที่รับไป ข้อไหนทำได้หรือไม่ได้" นายบรรหารกล่าว 



เริ่มถกด้านเศรษฐกิจก่อน

ด้านนายธงทองได้สรุปผลการดำเนินการที่ผ่านมา ซึ่งสรุปเป้าหมายการปฏิรูปประเทศ ไทยทั้ง 7 ข้อ ประกอบด้วย ประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีความมั่นคงแข็งแรง, การลด-แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนและข้อกฎหมาย, กลไกการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้, ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันภายใต้มาตรฐานที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ, ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน, ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน-การให้อภัยซึ่งกันและกัน และการยึดหลักประโยชน์ส่วนรวมและความถูกต้องเป็นหลัก โดยนำผลการศึกษาของคณะต่างๆ ที่ได้ทำมาพิจารณาหาข้อสรุปร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเปิดให้ผู้เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น โดยนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า เรากำลังเข้าสู่เรื่องการค้าโลกและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงอยากให้เน้นการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและกฎเกณฑ์ของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐเพื่อรองรับการออกใบอนุญาตไปสัมปทาน



สรุปปฏิรูป 5 ประเด็น

เวลา 17.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายบรรหาร นายพิชัย นายพงศ์เทพ นายวราเทพ และนายธงทอง ร่วมแถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจนำรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งหมด 7 ชุด อาทิ คอป. สถาบันพระปกเกล้า สภาพัฒนาการเมือง มาพูดคุยแสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญอย่างกว้างขวาง ได้แก่ การจัดการทรัพยากรไม่ว่าที่ดิน น้ำ ป่าไม้ ทะเล และชายฝั่ง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำในกรณีระบบภาษี รายได้และอาชีพ รวมถึงหนี้สิน 

โดยสรุปและกำหนดประเด็นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ 5 ประเด็น ดังนี้ 1.เป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาเศรษฐกิจ 2.การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ 3.การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 4.การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ 5.ประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า ถ้าจำเป็น รัฐบาลสามารถเร่งผลักดันในเรื่องนี้ได้ เช่น การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน



ด้านสังคมต้องแก้ 6 ปัญหา

นายบรรหารกล่าวว่า สำหรับคณะทำงานด้านสังคมซึ่งประชุมในช่วงบ่าย ได้นำรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการทั้ง 7 ชุดดังกล่าว มานำเสนอและพูดคุยแสดงความเห็น เช่น การเสริมสร้างความรู้ทางการเมืองแก่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย การอยู่ร่วมกันของคนในชาติท่ามกลางความหลากหลาย การสร้างบุคลากรที่มีคุณธรรมและจริยธรรม และบทบาทของสถาบันศาสนา โดยได้สรุปการปฏิรูปด้านสังคม 6 ประเด็น คือ 1.การพัฒนาคนด้านความรู้ ความรับผิดชอบ คุณธรรม และการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย 2.การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการสร้างความเป็นธรรมทางกฎหมาย 3.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น 4.การบริหารจัดการภาครัฐที่ดี โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ 5.การจัดระบบสวัสดิ การสังคม และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 6.ประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า

นายบรรหารกล่าวอีกว่า คณะทำงานมอบให้นายธงทองไปตั้งคณะทำงานชุดเล็กตามประเด็นย่อยดังกล่าว ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยคณะทำงานชุดเล็กแต่ละชุดจะประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อกำหนดแนวทางและกรอบเวลาดำเนินงานที่ชัดเจนอย่างมีเป้าหมาย จากนั้นให้ที่ประชุมชุดเล็กสรุปและรวบรวมนำกลับมาเสนอตนอีกครั้ง ในฐานะผู้ประสานงาน เพื่อรวบรวมและประมวลความคิดเห็น เสนอต่อที่ประชุมใหญ่เวทีปฏิรูปการเมืองในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ ต่อไป



ธีรภัทร์จี้รัฐนำผลถกไปปฏิบัติ

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยหลังร่วมประชุมเวทีปฏิรูปประเทศว่า มีความคืบหน้า หลายฝ่าย มีความเห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกันว่ามีปัญหาใหญ่อย่างไรบ้าง รัฐบาลจะนำความเห็นต่างๆ ไปบูรณาการทั้ง 3 ด้าน เพื่อเป็นโรดแม็ปเดียวกัน เรื่องไหนที่เดินหน้าได้ทันที รัฐบาลก็นำไปปฏิบัติ หากทำได้รัฐบาลจะสร้างความเชื่อถือได้มากขึ้นว่าทำเรื่องนี้อย่างจริงจังและจริงใจ ซึ่งตนเป็นห่วงว่าเมื่อศึกษาแล้วจะไม่มีการนำไปปฏิบัติ ส่วนที่ไม่มีบุคคลภายนอกเข้าร่วม ตนไม่ถือว่าเป็นอุปสรรค เพราะผลการศึกษาของคณะต่างๆ นำมาประมวลไว้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด แต่ปัญหาคือการผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากกว่า 

นายธีรภัทร์กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันทีคือ เรื่องการศึกษาภาคพลเรือน แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเอาจริงหรือไม่ และมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยให้เกิดผลสำเร็จได้จริงหรือไม่ ซึ่งต้องมีกลยุทธ์บริหารจัดการ ที่ผ่านมาเราขาดผู้นำที่กล้าหาญในการตัดสินใจ ถ้าเราได้ผู้นำการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ ชัดเจนและลงมือทำอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะสำเร็จ

ถกปฏิรูป - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ ประชุมแนวทางการปฏิรูปประเทศ เป็นครั้งที่ 2 โดยมีนายบรรหาร ศิลปอาชา นายพิชัย รัตตกุล และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เข้าร่วมพร้อมหน้า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล


เมื่อถามว่าหลังจากมาร่วมเวทีครั้งนี้เห็นความจริงใจของรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน นายธีรภัทรกล่าวว่า ขอเวลาอีก 3 เดือน หากภายใน 3 เดือนนี้รัฐบาลควรทำอะไรให้มีผลเป็นรูปธรรมอย่างน้อย 1 หรือ 2 เรื่อง ไม่เช่นนั้นสังคมจะไม่เชื่อถือ เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพครบเทอมหรือไม่ และถ้ามันช้าออกไปคนก็เบื่อ ฉะนั้นรัฐบาลต้องรีบฉวยโอกาสตรงนี้ว่าหลังประชุมรอบนี้แล้วอีก 2 เดือนต้องตัดสินใจว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรใน 3 กลุ่มย่อยที่หารือกัน



รบ.จวกปชป.ทำร้ายประเทศ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุรัฐบาลจัดโรดโชว์ "โครงการสร้างอนาคตไทย 2020" เป็นเรื่องไร้สาระ ใช้ความบันเทิงหลอกคนร่วม ว่า การจัดโรดโชว์เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ความจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งการจัดขึ้นครั้งแรกที่ จ.หนองคาย มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก เพราะสนใจตัวโครงการว่าสร้างประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ความบันเทิงภายในงานเป็นแค่องค์ประกอบย่อย ไม่มีอิทธิพลชี้ผิดชี้ถูกได้ 

นายภักดีหาญส์กล่าวว่า ส่วนที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุโครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มฤดูกาลใหม่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา จะมีทุจริตขึ้นอีกเป็นทรรศนะส่วนตัวของนายองอาจ ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินโครงการตามกระบวนการและโปร่งใส ฝ่ายค้านชอบปูดข่าวเพื่อดิสเครดิตโครงการรับจำนำข้าว ดิสเครดิตข้าวไทย ที่เลวร้ายที่สุดคือดิสเครดิตประเทศ โครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลใหม่เพิ่งเริ่มได้ไม่กี่วัน นายองอาจก็เตรียมตัดสินด้วยความเชื่อของตนเอง ขอเรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์หยุดแสดงวาทกรรมทำร้ายรัฐบาล เพราะมันหมายถึงกำลังทำร้ายประชาชน ทำร้ายประเทศ 



วิปชี้ม.190 เข้าสภาในต.ค.นี้

นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงผลประชุมวิปรัฐบาลว่า ในการประชุมสภาวันที่ 9 ต.ค.นี้จะพิจารณา 2 เรื่องคือ ร่างพ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน และร่างพ.ร.บ.การกีฬา ส่วนวันที่ 10 ต.ค. จะมีกระทู้ถามสดของพรรคชาติไทยพัฒนา และกระทู้ถามปกติ 7 เรื่อง จากนั้นจะเป็นเรื่องรับทราบ 7 เรื่อง ส่วนวันที่ 11 ต.ค. เวลา 13.00 น. จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องที่ครม.ขอความเห็นชอบคือ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลจีน ลาว ไทย และพม่า เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมจะเลื่อนกรอบการขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ โดยเป็นการขยายกรอบเงินกู้โดยเฉพาะอัตราเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยที่จะกู้ในประเทศ

เมื่อถามถึงการเลื่อนวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ขึ้นมาพิจารณาเมื่อใด นายอำนวยกล่าวว่า วิปหารือในเรื่องนี้ ซึ่งตนแจ้งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯ ให้สรุปประเด็นให้วิปรัฐบาลทราบก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อรวบรัดขั้นตอนต่างๆ จึงต้องรอให้กมธ.แจ้งสรุปมาก่อน โดยร่างแก้ไขมาตรา 190 คาดว่าจะพิจารณาได้ทันในเดือนต.ค.นี้ ส่วนมาตรา 68 และ 237 คาดว่าจะพิจารณาได้ทันสมัยประชุมนี้ ส่วนที่ส.ว.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นสิทธิ์ สามารถยื่นได้



หมอเผย"เหลิม"อาการดีขึ้น

นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.ร.พ.รามาธิบดี เปิดเผยถึงความคืบหน้าอาการของร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ที่เข้ารับการรักษาตัว ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า อาการดีขึ้นเป็นลำดับ กินอาหาร พูดคุยโต้ตอบได้ โดยคณะแพทย์ให้การรักษาโดยการระบายเลือดที่ออกบริเวณใต้เยื่อหุ้มสมองออกแล้ว แต่เทคนิคทางการรักษายังต้องใส่หลอดระบายเลือดไว้อีกระยะหนึ่ง 

นพ.สุรศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ความดันโลหิตของผู้ป่วยยังคงสูง ต้องดูแลและให้ยาควบคุมความดันโลหิตให้เข้าสู่ปกติก่อน ซึ่งจากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดทั้งการเอกซเรย์ และซีทีสแกน ไม่พบความผิดปกติเพิ่มเติม คาดว่าต้องพักดูอาการอีกประมาณ 6-7 วัน



โอ๊คปัดลงส.ส.-ยี้รัฐประหาร

นายพานทองแท้ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กปฏิเสธกระแสข่าวลงส.ส. ว่า จะไม่ลงสมัคร ส.ส. ที่สำคัญพ่อไม่เคยเชียร์ แม่ไม่เคยผลักดัน ตัวเองไม่เคยชอบการเมืองแม้แต่นิดเดียว ถ้าเลือกได้ขอชีวิตครอบครัวกลับคืน คืนความเป็นธรรมให้พ่อและจะออกมาให้ไกลการเมือง ไม่หวนกลับมาอีกเลย ในชีวิตนี้ถ้าเลือกได้ หากไม่มีการรัฐประหาร พ่อคงเป็นนายกฯ ครบเทอมที่ 2 และเกษียณตัวเองมาอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข และถ้าเลือกได้ไม่มีการรัฐประหารก็ไม่มีการตั้ง คตส. มาตรวจสอบเรื่องราวต่างๆ อย่างมีอคติ ทุกวันนี้ที่ตนมาเกี่ยวข้องกับการเมืองก็เกินลิมิตที่พ่อแม่ตั้งใจไว้แล้ว

นายพานทองแท้กล่าวว่า ที่พูดอยู่ภายใต้คำว่าถ้าเลือกได้ ทุกคำพูด ทุกวันนี้เลือกจะไม่ลง ส.ส. ไม่เล่นการเมือง ไม่รับตำแหน่ง ไม่สืบทอดอำนาจใดๆ และไม่มีภาวะใดที่มาบีบบังคับให้ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ถ้าเลือกได้ขอทำหน้าที่ "องครักษ์พิทักษ์อาปู" และจะขอทำหน้าที่จนกว่าผู้ที่มีใจรักประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายชนะ พ่อได้กลับบ้าน แต่ถ้าถึงวันที่ "เลือกไม่ได้" เมื่อไร อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด



"บิ๊กแจ๊ด"เมินการเมือง

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. กล่าวว่า บอกตามตรงในหัวไม่เคยคิดจะลาออก คิดอยู่อย่างเดียวจะแก้ไขปัญหาจราจร ปัญหาที่เกิดขึ้นตามร้านทองหรือธนาคารอย่างไร โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ไม่เคยคิดเรื่องการเมืองเลย ไม่รู้สื่อมวลชนเอาที่ไหนไปลง ชีวิตหลังจากราชการคิดเพียงแค่จะสร้างมูลนิธิมงคล-จงกล ธูปกระจ่าง ของพ่อกับแม่ให้เสร็จและรักษาคนให้ได้มากที่สุด ที่บอกตนจะลงส.ส.ปทุมธานี เป็นจังหวัดบ้านเกิดก็อยากให้การเมืองบริสุทธิ์ยุติธรรม ทีมที่ทำงานอยู่ก็ลงตัวแล้ว ทุกคนเป็นพี่น้องของตน 

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค เพื่อไทย กล่าวว่า กระแสข่าวการพิจารณาตัว ผู้สมัคร รวมถึงข่าวนายพานทองแท้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เป็นเพียงข่าวลือ ขอให้มั่นใจพรรคเพื่อไทยจะบริหารประเทศจนครบวาระ 4 ปี ในฐานะเลขาธิการพรรค เป็นหนึ่งในกรรมการคัดเลือกผู้สมัครยืนยันไม่เคยมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพิ่งทราบจากข่าวเท่านั้น

ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค กล่าวว่า คนปล่อยข่าวหวังผลการเมือง ผู้ใหญ่ในพรรคได้โทรศัพท์ไปปรับความเข้าใจกับส.ส.ปทุมธานีเรียบร้อยแล้ว ทุกคนเข้าใจดี 



โหรจริงชี้ "8ต.ค."ไร้แววรุนแรง

นายโสรัจจะ นวลอยู่ นักพยากรณ์ชื่อดัง เปิดเผยว่า กรณีมีกระแสข่าวว่าในวันที่ 8 ต.ค. นี้ จะเกิดเหตุความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยจนถึงขั้นมีการล้มรัฐบาลนั้น ดวงของบ้านเมืองก็มีความวุ่นวายอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่ตามหลักโหราศาสตร์นั้นระบุว่า ภายในช่วงนี้ยังไม่มีการเคลื่อนย้ายของดาวดวงใหญ่ ซึ่งสื่อว่ายังไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในวันที่ 8 ต.ค. แม้วันที่ 8 ต.ค.จะเป็นวันโลกาวินาศ แต่ยังไม่มีอะไรส่อว่าจะเกิดเหตุจนถึงขั้นขัดแย้งรุนแรงหรือเกิดการเปลี่ยน แปลงใดๆ ส่วนที่จะมีคือความขัดแย้งตามปกติ เช่น การเจรจาไม่สามารถหาข้อสรุปได้ หรือผลกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง ข้าวของจะแพงขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมมาตรการหาทางแก้ไขไว้ให้ดี 

นายโสรัจจะกล่าวอีกว่า เหตุรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยอาจเกิดในช่วงเดือนมิ.ย.2557 ดวงบ้านเมืองอาจขั้นวิกฤต สังคมอาจเจอกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาจเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหรือการปฏิวัติรัฐประหารที่รุนแรง เนื่องจากในช่วงเดือนมิ.ย.57 ดาวใหญ่จะมีการขยับตัว คือดาวราหูจะเข้ามาอยู่ในราศีกันย์และจะเล็งมฤตยู ถือเป็นวินาศของบ้านเมืองและส่งผล กระทบโดยตรง

"วิธีการผ่อนหนักให้เป็นเบานั้น เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนควรหันหน้ามาคุยกันสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้าม ต้องแสดงออกซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ ลดความหวาดระแวง เพราะขณะนี้ถือว่านักการเมืองอยู่ในภาวะที่มีความตกต่ำ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดความรุนแรงในปีหน้า ดังนั้น ผู้ที่ต้องปรับปรุงตัวเองมากที่สุดคือ นักการเมือง" นักพยากรณ์ชื่อดังกล่าว 



ระบุแค่วิกฤตจากภัยธรรมชาติ

พ.ต.อ.อรรถวิโรจน์ ศรีตุลา โหรการเมืองชื่อดัง กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าวันที่ 8 ต.ค. จะเกิดเหตุรุนแรงถึงขั้นล้มรัฐบาลนั้น ถ้าดูตามสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีอะไร กระแสข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการหลายกระ ทรวง แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร อาจจะมีคนไม่พอใจ เลยใช้เรื่องดวงเป็นช่องทางกระทุ้งให้ดูรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ช่วงเดือนต.ค. ยังถูกโยงไปกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ อย่างวันที่ 6 ต.ต. กับ 14 ต.ค. กลายเป็นกระแสว่าประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นซ้ำอีก แต่สถานการณ์ปัจจุบันกับปีที่เกิดเหตุนั้นมันคนละรูปแบบกัน 

พ.ต.อ.อรรถวิโรจน์กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงแล้ว แม้เดือนนี้จะเป็นเดือนที่ดาวอังคารเข้ามาใกล้โลกและวันที่ 8 ต.ค. เป็นวันโลกาวินาศ ถือว่าเป็นช่วงที่ดวงเมืองตกต่ำที่สุด แต่จะไม่ส่งผลต่อเรื่องการเมืองหรือมีปัจจัยทำให้ล้มรัฐบาลได้ เพราะมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก แต่ที่จะส่งผลจริงๆ ก็เป็นเรื่องภัยพิบัติ เหตุการณ์น้ำท่วมจะรุนแรงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เหตุการณ์น้ำท่วมจะต่อเนื่องถึงเดือนพ.ย. แต่พอเข้าช่วงเดือนธ.ค.แล้ว ดวงเมืองจะกลับมาเป็นปกติ สถานการณ์จะดีขึ้น

ทวิภาคี - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถกความร่วมมือทวิภาคีกับนายโทนี แอ๊บบ็อต นายกฯ คนใหม่ของออสเตรเลีย ระหว่างประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 21 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 7 ต.ค.




นักวิชาการไม่เชื่อมีรัฐประหาร

นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากพิจารณาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหว ของมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลได้ลดบทบาทลงหรือบางกลุ่มก็สลายตัว ความรู้สึกเกลียดชังหรือเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นปฏิปักษ์ก็ลดน้อยลงจนควบคุมไว้ได้ นักการเมืองไปใช้เวทีรัฐสภาต่อสู้มากยิ่งขึ้น แม้การแสดงออกของฝ่ายค้านจะดูรุนแรงหรือมากเกินไป แต่นี่คือรูปแบบหนึ่งที่เป็นไปตามระบบและยังอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดของกฎหมาย 

นายธำรงศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเผือกร้อนอย่างการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพยายามดึงเอาองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นคู่กรณีนั้น หลายฝ่ายมองว่าเป็นการแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติ บัญญัติและฝ่ายบริหาร แต่ประชาชนในสังคมก็พยายามเตือนสติศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกรอบอำนาจขององค์กรว่ามีข้อจำกัดและการกระทำใดที่ล่วงล้ำอำนาจของฝ่ายอื่น แต่หากมองบริบทในภาพรวม นี่คือการต่อสู้ที่อยู่ในระบบของกฎหมายมากกว่าเลือกที่จะต่อสู้บนถนนอย่างที่เคยเป็นมา 

นายธำรงศักดิ์กล่าวว่า ส่วนความเสี่ยงที่จะเกิดการรัฐประหารนั้น ทั้งด้านปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมในขณะนี้ ไม่มีเหตุใดเป็น สิ่งจูงใจให้กองทัพต้องเคลื่อนไหวออกมาทำรัฐประหาร เพราะสังคมไม่ได้เกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นรุนแรง หากจะทำการรัฐประหาร ไม่ว่าจะใช้ข้ออ้างใดก็ถือว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ อีกทั้งจากประสบการณ์และประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนแล้วว่าการที่ผู้นำกองทัพออกมาทำการรัฐประหารนั้นก็ไม่ได้ให้ประโยชน์อันใดกับประเทศและตนเอง การรัฐประหารไม่สามารถทำให้ผู้นำกองทัพเป็นนายกฯ อีกต่อไป อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการตกเป็นจำเลยให้สังคมตราหน้าว่าเป็นผู้ขัดขวางและทำลายระบอบประชาธิปไตย 



ม็อบล้มรบ.ชุมนุมหน้าทำเนียบ

เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) นำโดยนายไทกร พลสุวรรณ พร้อมด้วย พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ นำมวลชน 200 คน เคลื่อนจากสวนลุมพินี มาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพิษณุโลก และประกาศค้างคืน เพื่อรอรับวันที่ 8 ต.ค. ที่มีคำทำนายว่าจะเกิดการเปลี่ยน แปลงการเมืองครั้งใหญ่ โดยแกนนำปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและนายกฯ ที่นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยพล.ร.อ.ชัยแถลงว่า หากรัฐบาลต้องการให้กลุ่มกปท.ยุติการชุมนุม ให้ส่งตัวแทนที่มีอำนาจตัดสินใจมาเจรจา อย่างไรก็ตามเราจะประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นรายชั่วโมง ก่อนตัดสินใจว่าจะยกระดับการชุมนุมหรือย้ายเวทีจากสวนลุมพินีมาปักหลักถาวรที่ทำเนียบฯ หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายว่า การชุมนุมดังกล่าวมีการปิดเส้นทางจราจรบางส่วน ส่งผลให้การจราจรถนนพิษณุโลกติดขัดตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงเย็น โดยช่วงเย็นมีกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มหน้ากากขาวและกลุ่มอาชีวะ มาสมทบด้วย ขณะที่ภายในทำเนียบมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุม ฝูงชน 2 กองร้อย ดูแลความเรียบร้อยบริเวณประตูทางเข้าออก และนำรถผู้ต้องขังมาเตรียมพร้อมรับสถานการณ์หากเกิดความวุ่นวาย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงค่ำ กลุ่มพันธ มิตรฯทยอยมาสมทบกลุ่มม็อบแช่แข็ง โดยมีตำรวจบช.น. 6 กองร้อย ดูแลความปลอดภัยโดยรอบทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ มอบนโยบายให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์โทรศัพท์มากำชับให้ทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการชุมนุมหน้าทำเนียบฯ พร้อมทั้งจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด



ตร.คุมเข้มป้องมือที่ 3 ป่วน

ต่อมาเวลา 20.30 น. ผู้ชุมนุมกลุ่มกปท. 200 คน ยังคงปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล จากนั้นตำรวจเคลื่อนกำลังปิดเส้นทางเข้าบริเวณทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่แยกนางเลิ้ง แยกสวนมิสกวันและแยกวัดเบญจมบพิตร ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ เคลื่อนการชุมนุมลงมาปิดถนนพิษณุโลก พร้อมปราศรัยโจมตีรัฐบาลและร้องรำทำเพลงกันอย่างครึกครื้น โดยยืนยันถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเส้นทางทั้ง 3 จุดจะปักหลักชุมนุมบริเวณข้างทำเนียบฯ ตลอดทั้งคืน

เวลา 20.40 น. พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เปิดเผยถึงกรณีการปิดถนนและตั้งจุดตรวจจุดสกัดดูแลความปลอดภัยกรณีกองทัพธรรมใช้พื้นที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลเพื่อชุมนุมว่า ขณะนี้สั่งการให้ตั้งจุดตรวจจุดสกัด เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับกลุ่มกองทัพธรรมและผู้ชุมนุมบริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาลแล้ว โดยได้ขอความร่วมมือในการปิดการจราจรและตั้งจุดตรวจจุดสกัด 3 จุด ได้แก่ บริเวณแยกสวนมิสกวัน แยกนางเลิ้ง และแยกวัดเบญจฯ ตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป รวมถึงตั้งจุดตรวจจุดสกัดบริเวณแยกพาณิชย์ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มือที่ 3 มาก่อเหตุหรือสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง จึงขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว 

ด้านพล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผบก.จร. กล่าวว่า ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง 3 จุดหลัก คือ บริเวณแยกวัดเบญจฯ แยกสวนมิสกวัน บริเวณแยกนางเลิ้ง เนื่องจากด้านข้างทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนพิษณุโลก และถนนราชดำเนิน มีกลุ่มผู้ชุมนุมกองทัพธรรมมาชุมนุมบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และบช.น. จะเป็นผู้ประกาศและแจ้งให้ทราบต่อไป 



อลงกรณ์ลั่นถึงเวลาปฏิรูปแล้ว

เมื่อเวลา 11.00 น ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค กล่าวถึงการทวีตกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าปฏิรูปพรรคว่า ไม่ได้ข่มขู่และไม่ได้หมายความว่า หากไม่เป็นไปตามที่ตนเสนอแล้ว ตนจะขอลาออกจากกรรมการบริหารพรรค แต่ขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปพรรค เพื่อให้เป็นทางเลือกที่ดีกว่า ต้องยกเครื่อง ไม่ใช่แค่ยกร่างข้อบังคับ แต่ต้องปฏิรูปแบบองค์รวม ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคบ่ายวันนี้ ไม่ใช่แค่พิจารณายกร่างข้อบังคับพรรค แต่ต้องหาข้อสรุปในการบริหารจัดการพรรค ปฏิรูปทั้งองค์กรและบุคลากรให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ คือการปฏิรูปพรรคแบบองค์รวม ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคต้องเร่งตัดสินใจ เพราะใช้เวลานานมากแล้ว เราไม่มีเวลาที่จะซื้อต่อไป เนื่องจากเวลาของพรรคและประเทศมีความหมาย จึงต้องตัดสินใจให้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปพรรคหรือไม่ เพื่อจะได้รู้แนวทางการทำ งานต่อไป เชื่อว่าคณะกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่จะสนับสนุนแนวทางปฏิรูปพรรค

"ผมไม่เคยพูดถึงการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน สุดท้ายเมื่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญเห็นชอบข้อบังคับใหม่ คณะกรรมการบริการพรรคต้องพ้นจากตำแหน่ง เราไม่ได้พูดเรื่องตัวบุคคลแต่พูดเรื่องหลักการที่แต่ละฝ่ายเห็นชอบกันมา ส่วนแนวคิดที่ว่าผมต้องการให้เปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปเป็นคนอื่น รวมถึงเปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรคนั้นเป็นเรื่องที่ไกลเกินไป เราไม่เคยพูดถึง แต่ถ้าเราสร้างโครงสร้างที่เข้มแข็ง ใครไปใครมาไม่สำคัญ จึงไม่อยากให้ติดยึดที่ตัวบุคคล ทุกอย่างเป็นไปตามการตัดสินของสมาชิกพรรค" นายอลงกรณ์กล่าว



ชี้ปชป.ต้องมีข้อสรุป

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในการหารือเรื่องการปฏิรูปพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค มีท่าทีจะลาออกจากเลขาธิการพรรคจริง แต่เมื่อพรรคเห็นด้วยกับการปฏิรูป ทำให้ปัญหาหมดไป ทั้งนี้การประชุมกรรมการบริหารพรรคครั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุป โดยไม่ทำให้ใคร ทั้งตนและนายเฉลิมชัยต้องออกจากกรรมการบริหารพรรคหรือต้องออกจากพรรค เราต้องการทำให้พรรคกลับมาชนะเลือกตั้ง หลังจากเราไม่ประสบความสำเร็จ และระยะหลังมีการกล่าวหาว่าพรรคอิงแอบเผด็จการ ดีแต่พูด 

"หลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลบริหารประเทศผิด แต่คะแนนนิยมของพรรคกลับไม่กระเตื้องขึ้นเลย เราจึงจำเป็นต้องปฏิรูป ไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่เพื่อการทำงานที่ดีขึ้น ความแตกต่างไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เราต้องอดทนต่อความเห็นต่าง ถ้าเราเห็นว่าความเห็นที่แตกต่างเป็นความแตกแยก แสดงว่าเรายังไม่เป็นสถาบันการเมือง แต่เป็นสถาบันของนักการเมือง" นายอลงกรณ์กล่าว



ยันปรับเพื่อสู้กับรัฐบาล

นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่า หากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรค เราจะประชุมกับกลุ่มส.ส.ที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรคเพื่อให้เกิดความเข้าใจ แต่ยืนยันว่าการที่เราปรับปรุงตัวเองเป็นเรื่องสำคัญเพื่อความเข้มแข็ง ต่อสู้กับดุลอำนาจของรัฐบาล ไม่ให้ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่ถ้าเราอ่อนแอจะทำให้เสียงของส.ส.ในสภาระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลต่างกันมากยิ่งขึ้น จะไม่เป็นผลเสียมากกว่า

เมื่อถามว่าการผลักดันครั้งนี้จะเกิดความแตกแยกในพรรคเหมือนที่เคยมีประวัติ ศาสตร์มาแล้วหรือไม่ นายอลงกรณ์กล่าวว่า อย่าเอาเหตุการณ์ "10 มกรา" มาเปรียบเทียบ เพราะเราตั้งใจทำให้พรรคเกิดความเข้มแข็ง ด้วยการเปิดพรรคให้กว้างให้ประชาชนรับทราบทุกอย่าง ยืนยันว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรคมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย



มาร์คนำถกปฏิรูปพรรค

เวลา 14.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประ ชาธิปัตย์ เพื่อพิจารณาการปฏิรูปโครงสร้างพรรค นายอภิสิทธิ์เป็นประธานมีกรรมการบริหารเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขาดเพียงนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง และนายนราพัฒน์ แก้วทอง ส.ส.พิจิตร ใช้เวลาประชุม 4 ชั่วโมงเศษ 

จากนั้นเวลา 18.45 น. นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะทำงานปรับโครงสร้างการปฏิรูปพรรค แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการปฏิรูปปรับโครงสร้างพรรค โดยปรับแก้บางอย่าง เช่น จากเดิมคณะทำงานเสนอให้เปลี่ยนสภาที่ปรึกษาพรรค มาเป็นคณะกรรมการพรรคเป็นประธานพรรค มีอดีตเลขาธิการพรรค อดีตหัวหน้าพรรค และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นคณะกรรมการ แต่ที่ประชุมครั้งนี้มีมติกลับไป ให้มีสภาที่ปรึกษาพรรคเหมือนเดิม เพราะกลัวจะเกิดการซ้ำซ้อนและเข้าใจผิดว่าพรรคมีคณะกรรมการบริหาร 2 ชุด นอกจากนี้ ยังปรับจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรค จากเดิมที่มี 19 คน แต่คณะทำงานเสนอให้มี 15 คน โดยตัดโควตารองหัวหน้าภาคออกไป แต่ให้มีประธานเขตพื้นที่ หรือประธานโซนมาเป็นแทน ซึ่งที่ประชุมครั้งนี้ปรับแก้ให้ เพิ่มเป็น 25 คน โดยให้ที่ประชุมใหญ่เลือกรองหัวหน้าภาคต่างๆ 5 คน เป็นกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้รองหัวหน้าภาคทำงานภาพรวม และดูพื้นที่บางส่วนที่ไม่มีประธานเขตพื้นที่ดูแล แต่ต้องยอมรับว่ารองหัวหน้าภาคเพียงคนเดียวคงดูแลพื้นที่ร้อยกว่าเขต คงไม่ไหว



ปชป.เผย"จ้อน"แฮปปี้-เลิกทวีต

เมื่อถามว่าสิ่งที่เสนอไปมีการพิจารณาเทียบกับพิมพ์เขียวของนายอลงกรณ์หรือไม่ นายอัศวินกล่าวว่า นายอลงกรณ์เสนอมายังคณะทำงานจัดทำโครงสร้างอยู่แล้ว ซึ่งพิจารณาไปตั้งแต่ต้น และวันนี้นายอลงกรณ์ก็เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนเกือบทั้งหมด ส่วนรองหัวหน้าพรรคที่เป็นโควตาให้หัวหน้าพรรคแต่งตั้งนั้น ได้เพิ่มจากเดิม 3 คน เป็น 5 คน เช่น รองหัวหน้าด้านต่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และบริหาร ส่วนเลขาธิการพรรค ยังคงให้หัวหน้าพรรคเป็นคนเสนอ ข้อสรุปครั้งนี้ถือว่าที่ประชุมอนุมัติให้แก้ข้อบังคับพรรค โดยจะนำข้อสรุปเหล่านี้แจ้งให้ที่ประชุมส.ส.รับทราบในสัปดาห์หน้า และจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญอีกครั้งเพื่ออนุมัติข้อบังคับพรรคใหม่

เมื่อถามถึงกรณีนายอลงกรณ์ทวิตเตอร์เรื่องการปฏิรูปพรรค นายอัศวินกล่าวว่า ได้คุยกันแล้ว โดยกรรมการบริหารพรรคบางคนตำหนิว่านายอลงกรณ์ไม่ควรโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ ควรพูดกันภายในพรรค แต่ไม่ถือว่าเป็นปัญหากัน เพราะนายอลงกรณ์ชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าไม่มีเจตนาตำหนิใคร ซึ่งไม่มีใครติดใจสามารถปรับความเข้าใจกันได้ เชื่อว่าต่อไปนายอลงกรณ์ คงไม่ทวีตข้อความในเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะวันนี้นายอลงกรณ์ก็มีความสุข และรับจะนำไปปฏิบัติ 



ลั่นไม่แตก-อภิสิทธิ์นั่งหน.ต่อ

"ในการประชุมครั้งนี้ยืนยันไม่มีใครลาออกจากพรรค เพราะเข้าใจไปในทางเดียวกันหมดแล้ว และรับรองได้ว่าการเสนอปฏิรูปพรรคไม่ใช่เกมเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ตอนนี้ทุกคนแฮปปี้ พอใจที่จะให้นายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค" นายอัศวินกล่าว

เมื่อถามว่าข้อสรุปที่ออกมาดูเหมือนไม่แตกต่างไปจากเดิมจะทำให้ชนะการเลือกตั้งได้อย่างไร นายอัศวินกล่าวว่า ที่แตกต่างคือเรามีประธานเขตพื้นที่ในการเข้าไปรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ ส่วนนโยบายจะอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการกฎหมายและสำนักงานด้านต่างๆ ที่จะทำงานเป็นสต๊าฟของพรรค ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ชัดเจน ต่อไปนี้ก็จะชัดเจนมากยิ่งขึ้น



อลงกรณ์ยันทวีตเปิดหูเปิดตา

ด้านนายอลงกรณ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้ปรับเปลี่ยนข้อเสนอบางประการที่คณะทำงานเสนอมา แต่ก็เป็นไปตามข้อเสนอในการออกแบบให้หัวหน้าพรรคและผู้นำพรรคมีบทบาท ติดตามและนำพรรคอย่างเด็ด ขาดมากขึ้น มั่นใจว่าจะทำให้พื้นที่ที่พรรคไม่มีส.ส.หรือในพื้นที่ที่ไม่เข้มแข็งสามารถทำงานในแบบรวมศูนย์มากขึ้น ตอบโจทย์การชนะการเลือกตั้ง สามารถเพิ่มจำนวน ส.ส.ในภาคอีสานและภาคกลางได้มากขึ้น เพราะเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม มากขึ้น จึงถือว่าผลการประชุมครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจ และจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาการปฏิรูปการบริหารจัดการองค์กรและบุคลากร ทั้งนี้ในช่วงแรกของการประชุมได้มีการปรับความเข้าใจสนทนาธรรม ในประเด็นที่ตนโพสต์ข้อความทวิตเตอร์ ซึ่งตนก็ยืนยันไปว่าการทวิตเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดพรรคให้กว้างขึ้น



"ปู"ดึงนักธุรกิจสหรัฐลงทุนในไทย

วันที่ 7 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ระหว่างการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 21 ที่เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซียว่า เมื่อเวลา 12.15 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์หารือกับนายโทนี แอ๊บบ็อต นายกฯ ออสเตรเลีย ถือเป็นการพบกันครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง โดยนายกฯ เชื่อมั่นว่านายแอ๊บบ็อต จะนำพาออสเตรเลียประสบความสำเร็จและมีส่วนร่วมพัฒนาทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาค ทั้งนี้ไทยขอบคุณออสเตรเลียที่สนับสนุนการลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของไทย ในวาระปี 2017-2018 รวมทั้งให้ คำแนะนำเกี่ยวกับการหาเสียงของไทย

ต่อมาเวลา 14.30 น. ที่โรงแรมโซฟิเทล บาหลี อินโดนีเซีย น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกในช่วงแรก มีหัวข้อการหารือคือ "บทบาทของเอเปกในการสร้างเสริมระบบการค้าพหุภาคีในสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน" โดยนายกฯ ยืนยันถึงนโยบายของไทยต่อการค้าพหุภาคีว่า ไทยสนับสนุนองค์การการค้าโลก และพร้อมมีส่วนร่วมและสนับสนุนกระบวนการ โดยการเข้าร่วมในข้อริเริ่ม Duty-Free Quota-Free สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ไทยได้กระตุ้นให้สมาชิกอื่นๆ สนับสนุนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปของการเจรจา 

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยว่า ก่อนประชุมเอเปก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หารือกับกลุ่มนักธุรกิจเอเปกสหรัฐ เช่น ไมโครซอฟท์ กูเกิ้ล เฟด-เอ็กซ์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน พร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิ้ล ออราเคิล อีเบย์ ไทม์วอร์เนอร์ มาสเตอร์การ์ด โดยนายกฯ ได้สร้างความมั่นใจกับนักธุรกิจสหรัฐว่าขณะนี้รัฐบาลพยายามเต็มที่ในการสร้างเสถียรภาพให้กับการเมืองไทย เพื่อให้ภาคธุรกิจมั่นใจและวางแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพร้อมดูแลการลงทุนของภาคเอกชนภายใต้กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นธรรม เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เงินเฟ้อต่ำ โดยนายกฯ ยังกล่าวว่า รัฐบาลกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วยการใช้เกษตรโซนนิ่ง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่มูลค่า 2 ล้านล้านบาทในช่วง 7 ปีต่อจากนี้ ที่จะลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการได้อย่างดี

นายธีรัตถ์กล่าวอีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้พบหารือกับนายปีเตอร์ โอนีล นายกฯ ปาปัวนิวกินี โดยนายกฯ ปาปัวนิวกินีขอให้ไทยเป็นผู้ประสานงานกับสมาคมประชาชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เพื่อขยายการค้าระหว่างปาปัวนิวกินีและอาเซียนให้มากขึ้น พร้อมเชิญให้บริษัทจากประเทศไทยมีส่วนร่วมลงทุนด้านพลังงานและก๊าซธรรมชาติ โดยจะส่งรมว.ปิโตรเลียม มาหารือในรายละเอียดกับรมว.พลังงานของไทย นอกจากนี้นายกฯ ปาปัวนิวกินี ยังตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ITU ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพ.ย.นี้ด้วย



วุฒิสภาถก"พรบ.กู้2ล้านล."แล้ว

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่รัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท วาระแรก โดยนายนิคมแจ้งว่ามีส.ว.ลงชื่อขออภิปราย 74 คน และมีถ่ายทอดสดทางช่อง 11 จากนั้นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง ชี้แจงว่า การใช้จ่ายตามร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเสนอแผนงานและโครงการต่อเจ้ากระทรวง เพื่อเสนอความเห็นชอบจากครม. และต้องรายงานการเบิกจ่ายต่อกระทรวงต้นสังกัดต่อเนื่องจนสิ้นสุดโครงการ และกระทรวงต้องรายงานต่อกระทรวงการคลังทุกรายงานงบดุล ส่วนข้อกังวลว่าจะกระทบต่อตัวเลขหนี้สาธารณะนั้น ยืนยันว่าวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ในเวลา 7 ปี ไม่เกินร้อยละ 50 กรอบหนี้สาธารณะ สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ ไม่ให้กระทบต่อสถานะการคลังประเทศ 

จากนั้นส.ว.สลับกันอภิปรายอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เวลาคนละ 15 นาที ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ได้ท้วงติงถึงวิธีการการจัดทำงบประมาณว่าควรจัดทำด้วยวิธีงบประมาณปกติประจำปี ทั้งนี้ เป็นห่วงเรื่องการใช้งบประมาณที่สูงมาก เกรงว่าไม่คุ้มค่า และเปิดช่องให้ทุจริตโดยง่าย โดยกลุ่ม 40 ส.ว.อภิปรายไม่เห็นด้วยโดยไม่เชื่อว่ารถไฟความเร็วสูงจะสร้างจุดคุ้มทุนได้ 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.นี้มีทั้งหมด 53 โครงการ ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ แค่เตรียมกรอบวงเงินของโครงการไว้ให้กระทรวงการคลัง ภายใน 7 ปี เป็นการวางแผนระยะยาว 7 ปี ให้เห็นว่าอนาคตประเทศไทยภายใน 7 ปีเป็นอย่างไร โดยแต่ละโครงการต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมกำหนดกรอบการประชุมว่าจบในเวลา 22.00 น. และนัดประชุมต่อในวันที่ 8 ต.ค. เวลา 10.00 น. 



กกต.ห่วงน้ำท่วมกระทบเลือกตั้ง

วันที่ 7 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ในช่วงเดือนต.ค.นี้ จะมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น 2,941 แห่ง ซึ่งกกต.เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมไว้อย่างเต็มที่ ขณะนี้สำนักงานกกต.มีหนังสือเวียนแจ้งกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามและคอยประเมินสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าน้ำท่วมจะเป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรคต่อการจัดเลือกตั้งหรือไม่ 

นายประพันธ์กล่าวต่อว่า หากพบว่าพื้นที่ใดหรือจังหวัดใดที่ประสบปัญหาจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ขอให้กกต.จังหวัดเสนอเรื่องแจ้งขอขยายเวลาในการเลือกตั้งมายังกกต.กลาง เพื่อรอจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายลง แต่เท่าที่ได้รับทราบรายงานยังไม่มีจังหวัดใดทำหนังสือแจ้งขอขยายเวลาจัดการเลือกตั้งมายังกกต.กลาง แต่เบื้องต้นยังต้องรอดูและประเมินสถานการณ์อีกครั้ง โดยเฉพาะจ.ปราจีนบุรี ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ต.ค. แต่เวลานี้มีปริมาณน้ำท่วมขังหนักที่สุ

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปิด30จังหวัดขุมทรัพย์ใหม่อสังหา-ค้าปลีก "กสิกรไทย-เซ็นทรัล-แสนสิริ"ง้างลงทุนรับเมกะโปรเจ็กต์









นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า มั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะมีการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 19-20 กันยายนนี้ และน่าจะผ่านการพิจารณาได้ เนื่องจากโครงการต่าง ๆ ที่บรรจุไว้ในแผนกู้เงินมีความชัดเจนครบถ้วนทั้งรายละเอียด ผลการศึกษา ตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง

"โครงการลงทุน 2 ล้านล้าน จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านการท่องเที่ยว เชื่อมการค้ากับอาเซียน กระจายความเจริญสู่หัวเมืองภูมิภาค และเกิดการจ้างงานที่จะมีการก่อสร้างโครงการทั่วประเทศ หัวใจคือการเชื่อมโยงคมนาคมจะลิงก์ถึงกันหมด" นายชัชชาติกล่าว


30 จังหวัดทำเลทองอสังหาฯ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท จะไม่มีผลต่อสภาพคล่องของธนาคาร เนื่องจากใช้เงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท ทยอยลงทุน 7 ปี ขณะที่จะเป็นผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกในต่างจังหวัด

"กรุงเทพฯและปริมณฑลจะคงที่ ทิศทางการลงทุนคอนโดมิเนียมจะเหมาะสมที่สุด ตลาดต่างจังหวัดมีหลายอย่างที่หนุนให้โต มีโครงการ 2 ล้านล้าน เออีซี การขยายตัวของสังคมเมืองมายังหัวเมืองใหญ่มากขึ้น"

สำหรับจังหวัดที่มีศักยภาพในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ประเมินจาก 3 ปัจจัยเกื้อหนุน คือ 1.มีรายได้ประชากรต่อหัวสูง 2.มีกิจกรรมการค้าชายแดน 3.ได้รับประโยชน์จากโครงการภาครัฐ แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกดูจากรายได้ประชากรต่อหัวสูงกับโครงการภาครัฐ มี 18 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น นครสวรรค์ ลพบุรี นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา กับกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มจังหวัดมีทั้ง 3 ปัจจัยหนุน มี 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ หนองคาย มุกดาหาร อุบลราชธานี ตาก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตราด ระนอง สงขลา นราธิวาส

ด้านยุทธศาสตร์ของกสิกรไทย นายชาติชายกล่าวว่า มี 15 จังหวัดในการปักธงทำธุรกิจ ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา พัทยา-ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และนครปฐม

"จังหวัดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะมีการเติบโตที่เร็ว เกิดสังคมเมืองและมีรายได้มากขึ้น หลังจากนี้ทุนท้องถิ่นก็ต้องปรับตัวรับด้วย" นายชาติชายกล่าว

เซ็นทรัลปักธงลงทุน

นายนริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงินและบัญชี บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลมองการเติบโตตลาดต่างจังหวัดตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ประเมินจากสังคมเมืองจังหวัดใหญ่ ๆ ที่เติบโตขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์การค้าต่างจังหวัด 11 แห่ง สิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 13 แห่งในระยะเวลาเพียง 10 ปี มากกว่าศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ ที่ใช้เวลาพัฒนา 30 ปีมี 10 แห่ง

"เราให้ความสำคัญมากคือระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเลือกทำเล และมีผลอย่างมากต่อการทำธุรกิจ ถ้า (รัฐ) ช้าจะทำให้เศรษฐกิจชะงัก ไม่เกิดการลงทุน"

นายนริศกล่าวว่า ที่สำคัญเมื่อโครงการ 2 ล้านล้านเกิด จะมีผลต่อการขยายตัวของประชากรในกรุงเทพฯ ทำให้การเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยจากกรุงเทพฯไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น รองรับกับการพัฒนาโครงการใหม่ ๆที่จะไปตามแนวพื้นที่ก่อสร้าง 2 ล้านล้าน โดยเฉพาะบริเวณหัวเมืองใหญ่และประตูการค้าชายแดน ดังนั้นต่อไปตลาดภูมิภาคจะมีศักยภาพในการลงทุนและเติบโตอีกมาก การเติบโตของกรุงเทพฯจะน้อยลง

"ไลฟ์สไตล์คนต่างจังหวัดจะเปลี่ยนไปแน่นอน จากประสบการณ์ของเราในจังหวัดใหญ่จะเปลี่ยนใน 2 ปี จังหวัดรอง 3 ปี" 

แสนสิริเตรียมลงทุนเพิ่ม

นายอภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแสนสิริให้ความสำคัญกับการลงทุนตลาดต่างจังหวัดมากขึ้นในรอบ 3 ปีมานี้ จาก 3% ขยับเป็น 40% ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น เชียงราย ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช จากเดิมมีแค่ตลาดหัวหิน

"แนวโน้มการพัฒนาประเทศไทยจะไม่ใช่กรุงเทพฯ เพราะมีการกระจายรายได้ไปหัวเมืองมากขึ้น เรียกว่าเงินต่อเงิน เกิดจากการที่เราตามไปลงทุน เงินจะไปหมุนทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ปัจจุบันวิวัฒนาการต่าง ๆ เข้าถึงคนต่างจังหวัดมากขึ้น ไลฟ์สไตล์รับได้เหมือนคนกรุงเทพฯทุกอย่าง"

สำหรับแผนลงทุนต่างจังหวัดในปี 2557 นายอภิชาติกล่าวว่า เตรียมลงทุนเพิ่มแต่จะไม่เร่งรีบมาก ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องการโตมากไปกว่านี้ ต้องดูภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศโดยรวมควบคู่ไปด้วย

"ตอนนี้ที่ดูอยู่ก็มีที่ อ.แม่สอด ส่วน จ.บึงกาฬยังเป็นอนาคต ซึ่งหนองคายเราไม่ไปเพราะสำรวจแล้วคนลาวจะข้ามฝั่งมาไทยแล้วไปทางอุดรฯ เพราะห่างจากหนองคาย 30-40 นาที ด้าน จ.เชียงรายที่เราตัดสินใจไปลงทุนเพราะเป็นเกตเวย์การลงทุนไปจีน" นายอภิชาติกล่าวและว่าแสนสิริทำแผนลงทุนล้อไปตามแนวการลงทุนของโครงการรัฐบาล ตลาดใหม่ ๆ ดูหลายจังหวัด เช่น หัวหิน ภูเก็ต อุดรฯยังขยายอย่างต่อเนื่อง โครงการลงทุน 2 ล้านล้านกว่าจะมาอีก 7 ปีก็ต้องค่อย ๆ ทำ ทั้งนี้เห็นด้วยที่รัฐจะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เสร็จใน 7 ปี เพราะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าไม่ได้ทำจะแข่งขันไม่ได้ในอนาคต เงินตราไม่เข้าประเทศ ที่สำคัญจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และคนไทยเป็นอย่างมาก