สธ.คุมเข้มมาตรฐาน"คลินิก-รพ."เอกชนสร้างความเชื่อมั่นประชาคมอาเซียน
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่โรงแรมริชมอนด์ อ.เมือง จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและตัวแทนจากคลินิก โรงพยาบาลเอกชน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 300 คน เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ในการพัฒนามาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขพร้อมสร้างความเชื่อ มั่นในคุณภาพบริการและความปลอดภัยเมื่อประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า พร้อมชี้แจงนโยบายให้ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 อย่างเคร่งครัด
นายวิทยา กล่าวว่า รูปแบบบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลในขณะนี้ มีแนวโน้มเป็นบริการเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพราะประชาชนหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งความสวยความงาม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายคุ้มครองประชาชนทุกคนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยและ ถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อเป็นการรองรับการค้าเสรีด้านบริการสุขภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการ เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเตรียมการความพร้อมทั้งโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐและภาค เอกชน
โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วยคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน ทั่วประเทศมีทั้งหมด 19,149 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานคร 4,161 แห่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลพ.ศ. 2541 อย่างเคร่งครัด ห้ามโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ซึ่งจะเป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ในการเป็นผู้นำด้านบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานและถูกต้องตามกฎหมาย แสดงถึงความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป
นายวิทยา กล่าวว่า ในรอบ 3 ปี กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ รวมจำนวน 61 คดี ส่วนใหญ่เป็น
- คลินิกที่เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาต รองลงมาคือ
- ลักลอบทำศัลยกรรม
- ลักลอบทำแท้ง และ
- หมอที่ทำการรักษาโดยไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ
นอกจากนี้ยังได้รับการร้องเรียนผ่านสายด่วนระบบบริการสุขภาพหมายเลข 0-2193-7999 รอบ 8 เดือนตั้งแต่ตุลาคม 2554-พฤษภาคม 2555 ทั้งหมด 104 เรื่อง ในจำนวนนี้ร้องเรียนคลินิก 45เรื่อง และมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลฯไปแล้ว 14 คดี
โดยคลินิกที่เปิดโดยไม่รับอนุญาต มักอ้างว่าการขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานพยาบาลใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนาน ทำให้เกิดปัญหาไม่มีใบอนุญาตภายหลังการเปิดสถานพยาบาลตามมา จึงให้สำนักพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปรับปรุงขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้เร็วขึ้น จากเดิม 3 เดือน เหลือภายใน 1 เดือน หลังยื่นขอใบอนุญาต ซึ่งผู้ยื่นขอต้องเตรียมความพร้อมต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ด้วย และหากพบคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนรายใด เปิดบริการก่อนได้รับใบอนุญาต หรือโฆษณาอวดอ้างเกินจริง จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น