วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ไหว้พระเสริมบารมี

อ.เมือง
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่  
เป็นวัดสำคัญที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกริมถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง อ.เมือง เป็นวัดหลวงชั้นเอก "วรมหาวิหาร" ภายในวิหารของวัดเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธชินราช" หรือที่ชาวเมืองพิษณุโลกเรียกว่า "หลวงพ่อใหญ่" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสำริดในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1  ( พญาลิไท ) โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม และพระศรีศาสดาซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
    
พุทธลักษณะของพระพุทธชินราชนั้นสวยงามมาก เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคฺลี ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในโลก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาชมและสักการะบูชาพระพุทธชินราชเป็นจำนวนมาก ทุก ๆ ปี จะมีงานนมัสการพระพุทธชินราชในวันขึ้น 6 ค่ำ ถึงวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณปลายเดือนมกราคม) เรียกว่า "งานวัดใหญ่"
            ทางเข้าพระวิหารด้านหน้ามีบานประตูขนาดใหญ่ ประดับมุขสวยงาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ
            บริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราช มีพระอัฎฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสูง 18 ศอกสร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ. ศ. 1800 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่ แต่วิหารได้พังไปจนหมดเหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้นเรียกว่า "เนินวิหารเก้าห้อง"
            ด้านหลังพระอัฏฐารส เป็นพระปรางค์ประธานสร้างแบบสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ สันนิษฐานว่าเดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบินฑ์(ดอกบัวตูม)ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา
             นอกจากนี้ยังมี "พระเหลือ" ซึ่งพญาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสำริดที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราชพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดเล็ก และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ประดิษฐานในวิหารน้อย เรียกว่า "วิหารพระเหลือ"

วัดนางพญา
     ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวัดราชบูรณะ ถัดไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยเดียวกับวัดราชบูรณะ ต่างกันที่วัดนางพญาไม่มีพระอุโบสถมีแต่วิหาร วัดนี้มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง เรียกว่า พระนางพญา ซึ่งเล่าลือกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันหาได้ยากมาก มีก็แต่ที่ได้สร้างจำลองขึ้นภายหลัง มีการพบกรุพระเครื่องครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 และครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. 2497

 


วัดจุฬามณี
     ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ตามถนนบรมไตรโลกนารถ ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีมาก่อนสมัยสุโขทัย เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสองแควเก่า ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างพระวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ. 2007 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน โดยมีข้าราชบริพาร ออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป มีโบราณสถานสำคัญคือ ปรางค์แบบขอมขนาดย่อม ฐานกว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าก่อเป็นแบบตรีมุข ตั้งบนฐานสูงซ้อนกันสามชั้น แต่ละชั้นย่อมุมไม้ยี่สิบ มีปูนปั้นประดับลวดลายตามขั้น ตอนล่างแถบหน้ากระดานและบัวหน้ากระดานเป็นลายหงส์ เหมือนกับองค์ปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี สมัยที่ยังสมบูรณ์อยู่มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ใกล้เคียงกันมีมณฑปพระพุทธบาทจำลองซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้สร้างขึ้น แผ่นจารึกหน้ามณฑปมีใจความสรุปได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2221 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้ผ้าทาบรอยพระพุทธบาท สลักลงบนแผ่นหิน พระราชทานไว้เป็นที่กราบไหว้ของฝูงชน
วัดเจดีย์ยอดทอง
ตั้งอยู่บนถนนพญาเสือเช่นเดียวกับวัดอรัญญิก ปัจจุบันเหลือเพียงเจดีย์ทรงบัวตูม ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัยเพียงองค์เดียวของจังหวัดที่สมบูรณ์ มีฐานกว้างประมาณ 9 เมตร สูง 20 เมตร

วัดราชบูรณะ

     ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ทางใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุ พระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ ที่ชายคาตกแต่งด้วยนาค 3 เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม พิจารณาดูตามชื่อแล้ว วัดราชบูรณะน่าจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง เชื่อว่าเป็นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เนื่องจากทรงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกถึง 25 ปี และทรงมีบทบาททางบำรุงพระศาสนาที่พิษณุโลกมากที่สุด อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ค่ะ


ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
     ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ซึ่งเป็นพระราชวังจันทน์มาก่อนในอดีต ตัวศาลเป็นศาลาทรงไทยโบราณตรีมุข พระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีขนาดเท่าองค์จริง ประทับนั่ง พระหัตถ์ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำในพระอิริยาบถประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง สร้างโดยกรมศิลปากร เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2404 มีการจัดงานสักการะพระบรมรูปในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี
     เมื่อเดือนมีนาคม 2535 กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบแนวเขตพระราชฐานพระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งนับว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของจังหวัด ในปัจจุบันกรมศิลปากรได้กลบหลุมขุดเพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานไว้ จนกว่าจะได้มีการขุดค้นอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

มาพิษณุโลก พักที่เนเชอรัล ปาร์ค รีสอร์ท เดอ วังทองนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น