วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เกร็ดประวัติความเป็นมาของวัดราชบูรณะ

   วัดราชบูรณะ  ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๑๖/๑๖๙ ถ.บรมไตรโลกนารถ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพิษณุโลก  บริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกเยื้องกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร  พิษณุโลก  ตรงข้ามกับวัดนางพญา  มีแม่น้ำน่านไหลผ่านวัดทางด้านทิศตะวันตก  และมีถนนพุทธบูชาผ่านด้านข้าง  ทิศเหนือมีถนนมิตรภาพตัดผ่านด้านหน้าวัดราชบูรณะจนต้องรื้อย้ายใบเสมามุมพระอุโบสถด้านทิศตะในออกเฉียงเหนือ


  วัดราชบูรณะ  ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างว่า  เริ่มสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยใด  เสนอ  นิลเดช  (๒๕๓๒ : ๕๖)  ได้เขียนเรื่องวัดราชบูรณะ  ไว้ในหนังสือสองแควเมื่อวานพิษณุโลกวันนี้ว่า  “วัดราชบูรณะ  เป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่งเข้าใจว่าคงจะมีอายุถึงสมัยสุโขทัยก็อาจจะเป็นได้  วัดแห่งนี้เดิมมีอาณาเขตติดต่อกับวัดนางพญา  ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒  กรมทางหลวงได้ตัดถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก คือ ถนมิตรภาพ  ถนนสายนี้ได้ตัดผ่านเข้าไปในเนื้อที่วัดนางพญาและวัดราชบูรณะ  ถนนมิตรภาพได้ตัดเฉียดพระอุโบสถไปอย่างใกล้ชิด  จนต้องรื้อย้ายใบเสมามุมพระอุโบสถด้านตะวันออกเฉียงเหนือ 

   วัดราชบูรณะเป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยก่อนรัชสมัยพระยาลิไท แต่ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน แต่จากการค้นคว้าจากหลักฐานดังต่อไปนี้

               ประวัติวัดบนไม้แผ่นป้ายของวัด มีความว่า “วัดราชบูรณะเดิมไม่ปรากฏชื่อ ก่อสร้างมานาน ๑,๐๐๐ ปีเศษ ก่อนที่พระยาลิไทได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ดังนั้นวัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดราชบูรณะ” รวมความยาวนานถึงปัจจุบันประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเศษ

               พระยาลิไททรงสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว ทองยังเหลืออยู่จึงได้หล่อพระเหลือขึ้น และทรงทอดพระเนตรเห็นว่าวัดนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้บูรณะขึ้นมาอีกครั้งจึงได้นามว่า “ราชบูรณะ”

   วัดราชบูรณะมีโบราณสถานที่สำคัญๆ  ที่เหลืออยู่คือ  อุโบสถ วิหารหลวงและเจดีย์หลวงที่ตั้งอยู่ด้านหลังวิหารหลวง  เมื่อพิจารณาตามหลักฐานทางโบราณสถานโบราณวัตถุ  คือ  พระประธานในอุโบสถ  และพระประธานในวิหารหลวงแล้ว  เป็นสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย  ตอนปลายจึงพอจะสันนิษฐานได้ว่าวัดราชบูรณะ   คงจะสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลาย  ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑  พระยาลิไท  คงจะทรงโปรดเกล้า ฯ  ให้สร้างหรือบูรณะ  ซ่อมแซมครั้งใหญ่จึงได้นามว่าวัดราชบูรณเพราะพระมหาธรรมราชาที่  ๑ พระยาลิไท  ได้เสด็จครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก  ๗  ปี  คือ  ในระหว่างปี  พ.ศ. ๑๙๐๕  ถึง  ปี  พ.ศ. ๑๙๑๒  พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุง  ซ่อมแซมโบราณสถาน  และโบราณวัตถุเมืองในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก  ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง  สูงที่สุดในกรุงสุโขทัยตอนปลาย  วัดราชบูรณะนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อง  ๓ สมัย  ดังนี้  คือ  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งเสวยราชย์  ณ เมืองพิษณุโลก ๒๕ ปี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๐๖  ถึง  พ.ศ.  ๒๐๓๑ และรัชมัยพระบาทสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งเสด็จเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลก ๒๑  ปี  ระหว่างปี  พ.ศ.  ๒๐๙๑ ถึง  ปี  พ.ศ. ๒๑๑๒ และในรัชสมัยพระบรมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ในปี  พ.ศ. ๒๒๙๙  ทำให้วัดราชบูรณะมีสภาพที่แข็งแรง  มั่นคงมาตลอดกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นสันนิษฐานว่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔   เพราะได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถแล้วให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง  เรื่องรามเกียรติ์  และมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารแล้วให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง  เรื่องพระพุทธประวัติ   

              จากหลักฐานหอสมุดแห่งชาติ   วัดราชบูรณะนั้นมีชื่อปรากฏในแผนที่เมืองพิษณุโลก  ฉบับหอสมุดแห่งชาติปี  ร.ศ. ๑๑๑  หรือ  ปี  พ.ศ. ๒๔๓๕ (อุดม  บูรณะเขตต์, ๒๕๓๐ : ๕๕)          

   จากหลักฐานเมื่อ วันที่ ๑๖ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จวัดราชบูรณะ เก็บความตามที่ควรกล่าวจากกกพระราชหัตถเลขาที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ ๑ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๐ (หวน พินธุพันธ์ ๒๕๑๔ : ๖๔ – ๖๕ ) ตอนหนึ่งว่า

               “. . . . . . ต่อจากวัดนางพญานั้นลงไปก็ถึงวัดราชบูรณะ  ไม่มีบ้านเรือนคั่นวัดมีพระอุโบสถพระวิหารหลวงตั้งอยู่ใกล้พระเจดีย์ อันอยู่ใกล้ถนนริมน้ำ  พระเจดีย์องค์นี้ถานเป็นแปดเหลี่ยมใหญ่  แต่ชำรุดมีผู้ไปสร้างพระเจดีย์ไม่สิบสองต่อขึ้นข้างบน  ทำนองสร้างพระปรางค์ขึ้นบนเนินพระเจดีย์องค์นี้  ถ้าหากว่าไม่มีรูปแปลก  เช่น  พระบรมธาตุเมืองชัยนาท  ก็จะต้องเลยไปถึงพระเจดีย์มอญ  แต่ส่วนพระอุโบสถก็ดี  พระวิหารก็ดี  เมื่อได้เห็นแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว  ก็นับว่าเห็นทั่วทุกแห่งเพราะทำอย่างเดียวกันทั้งสิ้น  ตั้งใจจะเอาอย่างพระวิหารวัดมหาธาตุ  พระประธานเล่าก็ตั้งใจ  เพราะทำอย่างเดียวกันทั้งสิ้น  ตั้งใจจะเอาอย่างพระชินราชด้วยกันทั้งนั้น  ไม่มีอะไรที่น่าดู  มีธรรมาสน์บุษบกสลักปิดทองอย่างเก่าก็เอาอย่างในวัดมหาธาตุ  แต่สู้กันไม่ได้แลออกจะทิ้งให้โทรม  มีเสลี่ยงกงอย่างเก่าเหมือนที่ลพบุรีไม่ผิดกันเลย  ที่ลพบุรีเขาว่าสำหรับแห่พระราชาคณะ  ซึ่งไปอยู่วัดราชบูรณะ  เสลี่ยงนี้ก็อยู่วัดราชบูรณะเหมือนกัน. . . . . .”

               จากหนังสือจดหมายระยะทางเมืองพิษณุโลกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์  ความว่า “.......ออกจากหมู่บ้านก็เข้าหาวัดราษฎร์บูรณะ พอถึงหลังโบสถ์ก็ดูดจี๋  ต้องลงจากม้าเข้าทางหลังโบสถ์  บานประตูสลักลายดอก   ๔  กลีบ  ฝีมือดีแต่เป็นลายตามธรรมเนียม  ผนังในโบสถ์เขียนรามเกียรติ์  แต่ไม่สู้เก่านัก  และไม่สู้เป็นนัก  มีพระประธานใหญ่แต่ไม่เก่ง  มีพระเล็กน้อยมาก  เสาและเครื่องบนทาดำทาแดง  ปิดทองลายฉลุ แต่ไม่ใช่ลายเก่าเป็นปฏิสังขรณ์ใหม่  แต่ผนังโบสถ์และตัวไม้เครื่องบนเก่า  เป็นเครื่องประดุช่อฟ้าปูน  ออกจากโบสถ์พระยาเทพาชวนไปดูศาลาการเปรียญ  แต่ไปไม่รอด  เพราะอ้ายธรรมาสน์นั้นเก่าที่ศาลาข้างโบสถ์มันเหนี่ยวเอาไปดูมัน  ธรรมาสน์นั้นเก่ามากทีเดียว   ทีก็เป็นซุ้มเกี้ยวยอด  พังทิ้งอยู่ข้างล่างเหลือชั้นเดียว  ฐานก็แปลกจากที่เคยเห็น  คือสิงห์แขวนขานาคต่อ  แต่ข้างล่างจะเป็นอย่างไรอีกไม่ทราบ  เพราะสูญเสียหมดแล้ว  มาแปลกอยู่ที่ไม่มีกระจังบัดตีนยานไอ้หยัก ๆ  สำหรับหลังซุ้มประตูแทน  เช่นเขียนตัวอย่างไว้ดูนี้  (ทรงวาดรูปประกอบไว้ด้วย)  และมีกวางทรงเครื่องหักอยู่ตัวหนึ่งสำหรับเป็นบันไดรองเท้าขึ้นบนธรรมาสน์  ทั้งกวางทั้งธรรมาสน์ลายเก่าเป็นดอกไม้กนกทำนองรุ่นเดียวกับพนักธรรมาสน์ที่เก็บมาแต่วัดในเมืองสมุทรปราการแต่ก่อนนั้น...ดูธรรมาสน์แล้วไปดูการเปรียญ ทีก็เหมือนโบสถ์  เครื่องประดับฝ้าอิฐ แต่ฝ้าก่อทีหลัง เดิมเป็นเสาไม้  เป็นศาลาโถง  ฟาเจียนประถมสมโพธิ  แต่ไม่เก่าแลไม่เก่ง มีพระงามพอใช้องค์หนึ่ง หน้าตัก สัก ๒ ศอก.........”  บัดนี้ ของดีงามในสายพระเนตรของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ยังอยู่ครบบริบูรณ์แต่ทรุดโทรมมาก  การบูรณะควรจะยึดของเดิมเป็นหลักเพื่ออนุรักษ์เป็นสิ่งล้ำค่าของวัดต่อไป

         จากหลักฐานดังกล่าว  ทั้งด้านจารึก และเอกสารนั้น สันนิษฐานได้ว่าวัดราชบูรณะเป็นวัดเก่าโบราณ    ซึ่งอาจสร้างขึ้น      ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย  และมีการซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยของพระยาลิไท

        ในต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ได้มีการซ่อมแซมขึ้นอีกครั้ง  ทั้งนี้ได้พิจารณาจากลักษณะของจิตรกรรมฝาผนังที่จัดว่าเป็นรูปแบบในสมัยดังกล่าว

          วัดราชบูรณะมีอาณาเขตติดต่อกับวัดนางพญา  แต่วัดนางพญาไม่มีพระอุโบสถ  ทั้งพระอุโบสถวัดราชบูรณะและวิหารวัดนางพญา  มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือเศียรนาคที่ชายคาเป็นนาค  ๓  เศียร  มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม  พิจารณาดูตามชื่อแล้ว  วัดราชบูรณะน่าจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างอาจจะเป็นสมัยเดียวกับที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาครองเมืองพิษณุโลกทรงบูรณะพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ สร้างอุโบสถและวิหารวัดจุฬามณี เนื่องจากในรัชกาลนี้ทรงอุปถัมภ์ศาสนามากที่สุดและประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกเป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี


การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
   ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดราชบูรณะไว้เป็นโบราณสถาน  ในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  ๕๓  ตอน  ๓๔  วันที่  ๒๗  กันยายน  พ.ศ. ๒๔๗๙

   กรมศิลปากรได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ  ดังนี้  คือ

   ปี พ.ศ. ๒๕๒๘  บูรณะวิหารหลวง

   ปี พ.ศ. ๒๕๓๐  อนุรักษ์ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ

   และปี พ.ศ. ๒๕๓๓  บูรณะเจดีย์หลวง  โดยเสริมความมั่นคงทางรากฐาน  และต่อยอดพระเจดีย์ทรงลังกาซึ่งหักชำรุดหายไปให้บริบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น