วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วัดราชคีรีหิรัญยาราม

   
    วัดราชคีรีหิรัญยาราม(บนเขาสมอแคลง) ตั้งอยู่ที่บ้านสมอแคลง ในเขตอำเภอวังทอง เดินทางจากตัวเมืองพิษณุโลกไปตามทางหมายเลข 12 (เส้นทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก) ประมาณ 14 กิโลเมตร (ก่อนถึงอำเภอวังทอง 3 กิโลเมตร) มีทางแยกซ้ายขึ้นเขาไปอีกประมาณ 300 เมตร

    วัดราชคีรีหิรัญยาราม ประวัติเดิมไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างแต่ถูกกาลเวลาปล่อยทิ้งร้างจนมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยกระทรวงศึกษาธิการกรมการศาสนา ได้ออกหนังสือรับรองสภาพความเป็นวัดให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ความว่า

    "เป็นวัดที่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑"

     ความเป็นมาของวัด ได้ค้นพบหนังสือสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระะราชนิพนธ์ พระราชปรารภ เรื่องพระพุทธและมีข้อความสำคัญกล่าวถึงวัดราชคีรีหิรัญยาราม ว่า

    "พระพุทธเจ้าได้เสด็จบิณฑบาทไปถึงที่นั้น แล้วหยุดฉันท์ที่ใต้ต้นสมอ ที่เขาสมอแคลง ซึ่งเดิมเรียกว่าพนมสมอ ควรจะเป็นที่ตั้งพระพุทธศาสนา จึงมีรับสั่งให้จ่านกร้องและจ่าการบุญ คุมกำลังไพร่พลและเสบียงอาหารมาตรวจดูภูมิสถานแถบนั้น เมื่อจ่าทั้งสองได้ลงมาถึงที่ๆ ซึ่งกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ไปบิณฑบาตเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดี เหมาะแก่การที่จะสร้างเมืองใหม่ จึงได้มีใบบอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เจ้ากรุงเชียงแสนและเจ้ากรุงศรีสัชชนาลัย พระเจ้าพสุจราช พระบิดาพระนางปทุมมาวดี เอกอัครมเหสีของพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ทั้งสองพระองค์ได้ทรงร่วมกันสร้างเมืองขึ้นมาใหม่เมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๖ ตรงเช้าวันศุกร์ขึ้น ๑ ค่ำ ๓ ร.ศ.๓๑๕ และให้ชื่อเริ่มแรกเมืองนั้นว่า เมืองพิษณุโลกโอฆะบุรี นับได้ว่าเป็นชะตาดวงเมืองของพิษณุโลก ตั้งแต่นั้นมาจึงถึงปัจจุบัน โดยอาศัยเหตุดังกล่าวมา"

    โดยเริ่มแรกพระองค์ได้ทรงสถาปนาสร้างพระมหาธาตุรูปปรางค์สูง ๘ วา และสร้างพระวิหารทั้ง ๔ ทิศแล้วเสร็จ ก็ทรงให้สร้างพระพุทธรูปสำคัญขึ้น ๓ พระองค์ โดยองค์เริ่มแรกได้ให้ชื่อพระนามว่า พระพุทธชินราช ๑ องค์ องค์ที่สองให้พระนามว่า พระพุทธชินสีห์ ๑ องค์ และองค์ที่สามให้พระนามว่า พระศรีศาสดา ๑ องค์ โดยครั้งแรกได้ทรงเททองหลังจากการปั้นหุ่นขึ้นแบบแล้วปรากฏว่าทอง แผ่นบริบูรณ์เพียงสององค์คือ พระพุทธชินสีห์ และ พระศาสดา ส่วนองค์เริ่มแรกที่ให้พระนามว่า พระพุทธชินราช นั้น ทองไม่แล่นเต็มองค์ และพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ก็ได้ทรงกระทำขึ้นอีกสองครั้ง ทองก็ยังไม่แล่นเต็มองค์ จนทำให้พระองค์ทรงโทมนัสยิ่งนัก

    ต่อมาพระองค์พร้อมด้วยพระอัครมเหสีพระนางปทุมมาวดี พระราชเทวี ทั้งสองพระองค์ได้ทรงร่วมกันตั้งสัจจกริยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมี จึงได้จัดการปั้นหุ่นขึ้นแบบใหม่ โดยครั้งนี้ได้มีชีปะขาว (ตาปะขาว) คนหนึ่งอาสาเข้ามาช่วยปั้นหุ่น ขึ้นแบบทำการด้วยความแข็งแรงมาก ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีเวลาหยุด ครั้นได้รูปหุ่นเสร็จ ก็ได้ทรงเททอง ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ (เป็นวันธรรมสวนะวันพระ) เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๓๑๙ พระพุทธศาสนา กาลล่วงแล้ว ๑๕๐๐ ปี หย่อนอยู่ ๗ วัน และทรงดำรัสสั่งให้อาราธนา ชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีโดยรอบใกล้เคียงเมืองนั้น ทั้งฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสี มี "พระอุบาฬี และพระศิริมานนท์" อันอยู่วัดเขาสมอแครง เป็นประธาน ให้สวดปริตพุทธมนต์ มหามงคลทำสัจจกริยาธิษฐาน อาราธนาเทพยดาให้ช่วยในการนั้น ทองก็แล่นเต็มองค์บริบูรณ์ เป็นที่โสมนัสแก่ทั้งสองพระองค์ยิ่งนัก และชีปะขาวที่ได้มาช่วยทำการนั้น ก็ได้เดินออกจากที่นั้นหายออกไปทางประตูเมืองข้างเหนือ และได้ไปถึงยังตำบลหนึ่งก็ได้หายไป โดยไม่มีใครได้พบเห็นอีกเลย ต่อมา ตำบลนั้นจึงได้ชื่อว่า ตำบลตาปะขาวตราบเท่าทุก วันนี้...ฯ                                                                   

    ด้วยเหตุดังพระราชนิพนธ์ในราชกาลที่ ๕ ได้ทรงกล่าวถึง วัดเขาสมอแคลง อันมีพระเถระผู้ใหญ่ พระอุบาฬี และพระศิริมานนท์ ได้รับอาราธนามาเป็นประธานการสวดพระปริตและพระพุทธมนต์ถึงสองครั้งย่อมแสดง ให้เห็นว่า วัดเขาสมอแครงนั้นมีความสำคัญยิ่งในสมัยนั้น และกาลปรากฏต่อมาในปัจจุบัน วัดที่เป็นวัดถูกต้องตามหลักการครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ก็มีอยู่เพียงวัดเดียวที่ตั้งอยู่บนเขาสมอแครง คือ วัดราชคีรีหิรัญยาราม มีเนื้อที่เขตวัดในปัจจุบันประมาณ 230 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา โดยสภาพ ถูกกาลเวลากลืนกินไปตามกาลรวมทั้งคนใจบาปหยาบช้าได้ขึ้นมาขุดทำลายโบสถ์, วิหาร, เจดีย์ต่างๆ เสียหายสิ้นสภาพหมด เพียงเพื่อจะค้นหาวัตถุมงคลที่เรียกว่า "พระสมเด็จนางพญา" เท่านั้น

    ถัดจากวัดราชคีรีหิรัญยาราม (วัดเจ้าแม่กวนอิมหยกขาว) ขึ้นไปบนเขาสมอแคลงจะมีทางแยกไปโรงเจไซทีฮุกตึ๊ง ศาลเจ้าเห้งเจีย ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนไปไหว้เจ้าทำบุญกันเป็นประจำ และถัดจากศาลเจ้าเห้งเจียขึ้นไปอีกจะเป็นจุดชมวิวสูงสุดของเขาสมอแคลงแห่ง นี้ เป็นที่ตั้งของพระมหาธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก) ของพระพุทธเจ้า เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่ฐานประดิษฐานพระพุทธลีลามหาธรรมราชาลิไททั้ง 4 ด้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น