วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556

‘ยิ่งลักษณ์’ร่วมพิธีเปิดประชุมผู้นำ ACMECS

‘ยิ่งลักษณ์’ร่วมพิธีเปิดประชุมผู้นำ ACMECS ยันไทยพร้อมร่วมขับเคลื่อนพัฒนาอนุภูมิภาค


 ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 13 มี.ค. ที่โรงแรมดอนจัน พาเลด นครเวียงจันทร์ สปป.ลาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำจาก สปป. ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา และเลขาธิการอาเซียนร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 5 (The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)  โดยนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะเจ้าภาพ กล่าวเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ โดยตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศสมาชิก ACMECS และต้องเสริมสร้างความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนสำคัญให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อสานต่อความสำเร็จเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคพื้นมนสากล และการเตรียมพร้องสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การพัฒนาการของความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน การคมนาคม สาธารณูปโภค วัฒนธรรม และทรัพยากรมนุษย์


 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีกับลาว ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปีนี้ โดยกล่าวว่า ถือเป็นก้าวที่สำคัญของ สปป.ลาว และอนุภูมิภาค ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกกำลังเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่เอเชีย ในขณะที่อาเซียนกำลังจะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน พร้อมกับการที่ศักยภาพของอนุภูมิภาคนี้ที่สามารถเป็นศูนย์กลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก เนื่องจากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดเชื่อมโยง จากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียใต้ และการเป็นอนาคตร่วมกัน จะต้องเดินหน้าพัฒนาไปข้างหน้าด้วยกันบนพื้นฐานของการมีความมั่นคงและความมั่งคั่งร่วมกันดังนั้นประเทศ ACMECS จะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ สร้างงาน สร้างรายได้ ขยายโอกาสให้กับประชาชนของเรา และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

 โดยเฉพาะบริเวณชายแดน และต้องส่งสัญญานที่ชัดเจนให้นานาชาติ รับทราบถึงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของผู้นำ ACMECS ที่จะผลักดันให้อนุภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงอีกแห่งหนึ่งของโลก การนำเอาจุดแข็ง และความได้เปรียบของแต่ละประเทศ มาเสริมกันและกัน ก็จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจร่วมกัน และเพิ่มความน่าดึงดูดการค้า การลงทุนต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงจะต้องเดินหน้าในเรื่องการรวมตัวกันให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และที่สำคัญ เราจะต้องช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมที่สันติในอนุภูมิภาคนี้ เพราะสันติภาพและเสถียรภาพคือพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ

 นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า สิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญในการผลักดัน คือการเชื่อมโยงอนุภูมิภาคนี้เข้าด้วยกัน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการประสานกฎระเบียบให้สอดคล้องกันเพื่อให้การขนส่งสินค้ามีความคล่องตัว ประชาชน นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว สามารถไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ให้ทั่วถึง โดยล่าสุด รัฐบาลไทยได้ประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบวงจร เป็นจำนวนเงินประมาณ 66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มุ่งปรับปรุงระบบการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และด่านการค้าชายแดน ซึ่งจะเชื่อมโยงเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาค เช่นการเชื่อมโยงทางบกในลักษณะ land bridge ระหว่างท่าเรือแหลมฉบังในประเทศไทยและท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสหกรรมที่ทวายในเมียนมาร์ที่จะสร้างขึ้นมาในอนาคต 

 คาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น 45,000 ล้านบาท หรือ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นหัวใจ สำคัญหนึ่งของการเดินหน้าในเรื่องนี้ โดยรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อผลักดันเป้าหมายนี้ ประเทศไทยยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการใหม่ ๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในประเทศสมาชิก ACMECS

 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยเร่งผลักดันจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจชายแดน เพื่อแปรชายแดนร่วมกัน เป็นชายแดนแห่งความมั่งคั่งร่วมกันที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับ การเดินหน้าเป็นฐานการผลิตร่วมกันใน ACMECS และขณะนี้ ไทยและกัมพูชาได้เริ่มหารือในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วมกันแล้ว และดิฉันหวังว่า จะได้มีการหารือกับเมียนมาร์และ สปป. ลาว ต่อไป ในวันนี้ ไทยและลาวลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการเกษตรแบบมีสัญญาระหว่างไทยกับ สปป. ลาว เพื่อยืนยันความพร้อมที่ไทยจะดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ ประการที่สาม คือผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจใน ACMECS ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะภาคธุรกิจเป็นทั้งผู้บุกเบิกนำร่อง และพลังขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ รัฐบาลของประเทศ ACMECS จึงควรร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ทั้งสำหรับภาคธุรกิจของประเทศ ACMECS กันเอง และภาคธุรกิจจากนอก ACMECS ไม่ว่าจะเป็นกรอบนโยบาย หรือกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้ภาคธุรกิจเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของอนุภูมิภาคนี้ได้อย่างเต็มที่ ไทยแลกัมพูชาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งไทยและกัมพูชาและหวังว่าจะมีความร่วมมือเช่นนี้กับประเทศ ACMECS อื่นๆ ในอนาคต

 ประการสุดท้ายและเป็นหัวใจสำคัญ คือ ไทยส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความเข้าใจและใกล้ชิดสนิทสนมกันระหว่างประชาชนในอนุภูมิภาค เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาอนุภูมิภาคนี้ในอนาคต ฉะนั้น เราจึงควรส่งเสริมให้ประชาชนของเราไปมาหาสู่ ใกล้ชิด รู้จัก และเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา และความร่วมมือระดับประชาชนต่างๆ ความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวต้องได้รับการส่งเสริม เพราะเป็นจุดแข็งและแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนของทั้ง 5 ประเทศ ACMECS โดยขยายการเชื่อมโยง และส่งเสริมการรณรงค์การท่องเที่ยวร่วมกันให้มากยิ่งขึ้น อาทิ โครงการ ACMECS Single Visa และ การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวใน ACMECS เข้าด้วยกัน ตามแนวคิด 5 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง

 นอกจากนี้ การร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาค เพื่อลดช่องว่างการพัฒนา เพื่อให้อนุภูมิภาคนี้สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพและเพื่อเตรียมตัวในการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ โดยรัฐบาลไทยจะให้ทุนการฝึกอบรมอีก 200 ทุนในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งสาธารณสุขและเกษตรในระยะเวลา 2 ปีที่จะถึงนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างสูงกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ เพราะเชื่อว่า เราจะต้องก้าวหน้า พัฒนาไปด้วยกัน และหัวใจของ ACMECS ก็คือ การส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งร่วมกันของทั้ง 5 ประเทศในอนุภูมิภาคนี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ยังมีอีกหลายด้านที่เราจะต้องทำให้มากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมทั้ง ความสำเร็จของอาเซียน และสันติภาพและความมั่งคั่งของภูมิภาคโดยรวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น