โดย... พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ (punchada.sir@mahidol.ac.th)
เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมารัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียน หรือ ASEAN Economic Ministers Meeting (AEM) ได้ประชุมรวมกัน ณ ประเทศบรูไนดารุสซาราม เพื่อติดตามผลความก้าวหน้าสู่เป้าหมายการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 45 ของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ
การประชุม AEM นั้นมีเป้าประสงค์หลักเพื่อติดตามผลและผลักดันมาตรการต่างๆที่ได้ระบุไว้ในความร่วมมือระหว่างกันภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งกระตุ้นและตรวจสอบสมาชิกแต่ละประเทศว่าสามารถดำเนินการตามแผนไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตามที่ได้กำหนดไว้ใน Blueprint หรือ พิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นั้น ได้แบ่งระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง AEC เป็น 4 ช่วงเวลาตั้งแต่การเริ่มใช้พิมพ์เขียว ซึ่งในขณะนี้เราได้เข้าสู่ช่วงที่ 3 ของแผนดำเนินการ คือ ตั้งแต่ มกราคม พ.ศ. 2555-ธันวาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งในการประชุม AEM ครั้งนี้ได้มีการแถลงว่าประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามแผนก่อนถึงกำหนดการเปิด AEC อย่างเป็นทางการแล้วถึง 79.7%
สำหรับผลในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้ยืนยันให้มาเลเซียและอินโดนีเซียลดภาษีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใน พ.ศ. 2558 โดยใช้มาตรการภายในประเทศ เช่นใช้ภาษีสรรพสามิตแทนภาษีนำเข้าหากมีความจำเป็น รวมทั้งกระตุ้นให้ เวียดนามและกัมพูชาลดภาษีสินค้าปิโตรเลียม
ส่วนด้านการค้าบริการนั้น ที่ประชุมได้เร่งให้จัดข้อผูกพันการค้าบริการชุดที่10 ให้เสร็จก่อนการเปิด AEC โดยเน้นให้นักลงทุนในธุรกิจบริการของอาเซียนสามารถถือหุ้นได้อย่างน้อย 70% ในธุรกิจบริการที่ได้มีการตกลงกัน
ในด้านการขนส่งสินค้า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้สินค้าของอาเซียนไม่ต้องสำแดงมูลค่าสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางในหนังสือรับรอง เฉพาะกรณีที่สินค้านั้นๆผลิตได้ทั้งหมดในประเทศสมาชิก หรือ มีการผลิตและแปรสภาพสินค้าตามเกณฑ์ที่อาเซียนได้กำหนดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้าให้กับผู้ส่งออกของอาเซียน โดยแนวทางดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายใน 1 มกราคม พ.ศ. 2557
นอกจากความก้าวหน้าจากการประชุม AEM นี้แล้ว การเตรียมความพร้อมสู่ AEC โดยรวมของประเทศสมาชิกก็เป็นไปในทิศทางที่ดี ประเทศสมาชิกโดยเฉพาะ 6 ประเทศผู้ผลิตหลักของอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน) ได้ร่วมมือกันลดภาษีนำเข้าอย่างเป็นรูปธรรมให้กับสินค้าอุตสาหกรรม ให้อยู่ที่ 0-5% เช่นสินค้า จำพวกอุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รถกระบะ ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่อยู่ใน sensitive list เช่น สินค้าเกษตรต่างๆ ข้าว ยางพารา ยังไม่อาจลดภาษีได้ตามแนวทางข้างต้น
นอกจากการลดภาษีดังกล่าวแล้ว โรดแมพสู่ AEC ยังรวมถึงการเปิดการค้าเสรีภาคบริการ หรือ Trade in Services ภายใต้ข้อตกลง ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) อีกด้วย ข้อตกลง AFAS นี้แยกย่อยออกเป็นการเปิดการค้าเสรี 4 โหมด ซึ่งโหมดที่ 1 และ 2 นั้นมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างประสบความสำเร็จ ส่วนโหมดที่ 3 และ 4 ยังพัฒนาไปได้ค่อนข้างช้าเนื่องจากอุปสรรคหลายประการภายในประเทศสมาชิกเอง ทั้ง 4 โหมดภายใต้ AFAS คือ
1. Cross-Border Supply หมายถึงการให้บริการจากพรมแดนของประเทศสมาชิกหนึ่งไปสู่พรมแดนของประเทศสมาชิกอื่นที่เป็นลูกค้า โดยผู้ให้บริการไม่ต้องปรากฏตัวอยู่ในประเทศประเทศลูกค้า เช่น การศึกษาผ่านทางไกล บริการผ่านสื่อสารโทรคมนาคม และบริการให้คำปรึกษาผ่าน internet เป็นต้น ในส่วนนี้ได้ดำเนินการแล้ว และถือว่าได้รับผลดีและมีความพร้อมหากต้องเข้าสู้ AEC ในไม่ช้า
2. Consumption Abroad การให้บริการที่เกิดขึ้นในพรมแดนของประเทศผู้ให้บริการ โดยอาศัยการเคลื่อนย้ายของผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บริการด้านการท่องเที่ยว การออกไปรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลต่างประเทศ การไปศึกษาในต่างประเทศ เป็นต้น สำหรับโหมดข้อตกลงด้านนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จและดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นกัน ประเทศสมาชิกให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ กับประชาชนในภูมิภาคอาเซียนเพื่อเข้ารับบริการในประเทศของตน
3. Commercial Presence หรือ การเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้บริการในประเทศลูกค้า หรือ ประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศอื่น ข้อนี้ยังไม่ค่อยมีการพัฒนามากนัก เนื่องจากหลายประเทศยังคงกังวลในเรื่องของการที่ชาวต่างชาติจะมาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินในประเทศตนเอง อย่างที่เห็นในประเทศไทยหากภาครัฐยอมให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในกิจการต่างๆได้ 100% ก็อาจถูกมองว่าขายชาติ ปล่อยให้ชาวต่างชาติมาครอบงำประเทศตน ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ก็คำนึงถึงปัญหานี้เช่นกัน ข้อตกลงในด้านนี้จึงยังไม่ค่อยพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก
4. Movement of Natural Persons หรือการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถไปยังประเทศสมาชิกต่างๆอย่างอิสระ หลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า หากเปิดAEC ในปี พ.ศ. 2558 นั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือก็จะเกิดขึ้นตามมาด้วย แรงงานฝีมือในที่นี้มีทั้งหมด 8 วิชาชีพ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangements: MRAs) ซึ่งประกอบไปด้วยอาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี เป็นต้น
ข้อตกลงในเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคลากรสายวิชาชีพนี้ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากหลายประเทศเกรงว่าประชาชนจากประเทศสมาชิกอาจหลั่งไหลเข้ามาแย่งอาชีพประชาชนของตนเอง แต่ในทางกลับกันหลายประเทศ อย่างเช่นประเทศไทย ก็กลัวปัญหาในเรื่องของสมองไหล เช่น แพทย์ที่มีฝีมืออาจอยากจะย้ายไปทำงานในประเทศที่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่า เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวภาครัฐจึงต้องคิดไตร่ตรองและออกนโยบายต่างๆเพื่อป้องกันปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีในอนาคต ดังนั้นการพัฒนาข้อตกลงในด้านนี้จึงเป็นไปได้อย่างช้าๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดปัญหาจากการขาดแคลงแรงงานในกลุ่มวิชาชีพดังกล่าวที่มีคุณภาพในบางประเทศ แต่อาจมีมากเกินไปในอีกประเทศหนึ่ง
ถ้ามองในภาพรวมก็ดูเหมือนว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนค่อยๆพัฒนาแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิด AEC ใน พ.ศ. 2558 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี การเปิด AEC นี้จะประสบความสำเร็จ และนำประโยชน์สูงสุดมาสู่ภูมิภาคของเราก็คงต้องอาศัย การรักษาคำมั่นสัญญาร่วมกัน หรือ commitment ของประเทศสมาชิกในการผลักดันแนวทางและข้อตกลงภายใต้ พิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ให้เป็นผลได้จริง รวมทั้งพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง และนโยบายของภาครัฐภายในประเทศตนให้เอื้อต่อการผลักดันประชาคมดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงได้ หากประเทศสมาชิกเองไม่ยึดมั่นในข้อตกลงและไม่ช่วยกันผลักดันแนวทางต่างๆให้เป็นผล ก็อยากที่AEC จะประสบความสำเร็จเหมือนองค์กรระดับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจาก อาเซียนเองไม่มีบทลงโทษใดๆเหมือนกับองค์กรระดับภูมิภาคอื่น ที่จะลงโทษประเทศสมาชิกหากไม่ปฏิบัติตามกฎและข้อตกลงของกลุ่ม ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการร่วมมือทางเศรษฐกิจในครั้งนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น