วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กฎบัตรอาเซียนเพื่อคุณ

ตลอดช่วงเวลากว่า 40 ปี อาเซียนได้พัฒนาตนเองจนเป็นองค์กรที่มีความสำเร็จในระดับสำคัญในหลายด้านที่เป็นที่ยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการสร้างบรรยากาศของสันติภาพและการอยู่ร่วมกันโดยสันติของประเทศในภูมิภาค การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน เรื่อยไปจนถึงการร่วมกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในประเทศสมาชิกอาเซียน อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมตัวกันของอาเซียน รวมถึงความพยายามในการจัดตั้ง ‘ประชาคมอาเซียน’ ภายในปี 2558 ได้แก่ การที่อาเซียนขาดกลไกที่บังคับในกรณีที่มีประเทศสมาชิกไม่ปฏิบัติตามความตกลงต่าง ๆ ของอาเซียน และการที่องค์กรอาเซียนเองไม่มีสถานะทางกฎหมาย (legal entity) ซึ่งบ่อยครั้งทำให้อาเซียนขาดความน่าเชื่อถือ


เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้างต้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจึงได้ร่วมกันลงนามใน ‘กฎบัตรอาเซียน’ ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนเป็นธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดของอาเซียน โดยการมีกฎบัตรอาเซียน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ (1) เพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินการตามเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะความพยายามของอาเซียนที่จะรวมตัวกันเป็น ‘ประชาคม’ ภายในปี 2558 (2) สร้างกลไกที่จะส่งเสริมให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตามความตกลงต่าง ๆ ของอาเซียน และ (3) ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดและสร้างประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงมากขึ้น โดยการบังคับใช้ของกฎบัตรฯ จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรทีมีกติกาของการดำเนินงานอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น กฎบัตรอาเซียน จะก่อให้เกิดการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงานของอาเซียนครั้งสำคัญ เช่น (1) การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียน (AICHR) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนมีองค์กรเฉพาะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกอาเซียน (2) การจัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกระดับเอกอัครราชทูตจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน โดยคณะกรรมการนี้ มีภารกิจหลักในการให้นโบายและติดตามการทำงานของอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน และ (3) การเพิ่มบทบาทของประธานอาเซียนเพื่อให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการจัดให้มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 2 ครั้งต่อปี ซึ่งเพิ่มจากที่ผู้นำอาเซียนพบเพื่อหารือกันเพียงปีละหนึ่งครั้ง และ (4) การจัดตั้งกลไกให้องค์กรภาคประชาสังคมของประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและดำเนินงานของอาเซียนมากขึ้น เป็นต้น

จากบริบทข้างต้น ก็คงจะเห็นได้ในระดับหนึ่งว่า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการมีกฎบัตรอาเซียน ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นประชาชนของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยทั่วไป รวมถึงประชาชนไทยด้วย ดังนั้น ในโอกาสที่ไทยได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2552 ไทยจึงได้กำหนดคำขวัญของการดำรงตำแหน่งประธานฯ ว่า
‘กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน’ หรือ‘ASEAN Charter for ASEAN Peoples’ ในภาษาอังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น