วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อาเซียนกับเพื่อนๆ ของอาเซียน

หลายท่านคงได้ทราบอยู่บ้างว่า อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2510 นั้น ในปัจจุบัน มีสมาชิก 10 ประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิ้น แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า นอกจากอาเซียนจะเป็นสมาคมที่ให้สมาชิกทั้ง 10 ประเทศได้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันผ่านกรอบความร่วมมือต่า งๆ แล้ว อาเซียนยังมีโครงการความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ กับเพื่อนที่ตั้งอยู่นอกภูมิภาค หรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘คู่เจรจา’ ของอาเซียนอีกกว่า 10 ประเทศหรือองค์กรเลยทีเดียว



อาเซียนเริ่มมีความสัมพันธ์กับประเทศนอกกลุ่มเป็นครั้งแรกกับ ‘สหภาพยุโรป’ ในปี 2515 หรือประมาณ 5 ปีภายหลังการก่อตั้งอาเซียน จากนั้น อาเซียนก็มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงปัจจุบัน อาเซียนมีเพื่อนที่เรียกว่า ‘คู่เจรจา’ แล้ว จำนวน 9 ประเทศ กับ 1 องค์กร ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดีย รัสเซีย และสหภาพยุโรปดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ อาเซียนยังมีความร่วมมือเฉพาะทางในบางสาขากับองค์การสหประชาชาติและปากีสถาน รวมถึงกลุ่มภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ความร่วมมือของรัฐอ่าวอาหรับ ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศที่มีน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกหลัก อันประกอบด้วยบาห์เรน กาตาร์ คูเวต โอมาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งมีอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศเป็นสมาชิกอยู่ด้วย และองค์กรของกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาหลายองค์กร เช่น เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม NAFTA) และตลาดร่วมอเมริกาตอนล่าง ซึ่งประกอบ
ไปด้วยอาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย ชิลี เปรู โบลิเวีย โคลอมเบีย และเอกวาดอร์ ซึ่งอาเซียนพยายามหาความเชื่อมโยงด้วยในเรื่องเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน

เป้าหมายในตอนแรกที่อาเซียนต้องการมีเพื่อน คือ การขอให้เพื่อนที่มีสถานะที่ดีกว่าให้ความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาแก่อาเซียน ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเพื่อน ๆ ในช่วงแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็นกับสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา จึงอาจเรียกได้ว่าอยู่ในสถานะ ‘ผู้ให้กับผู้รับ’ อย่างไรก็ดี เมื่ออาเซียนเติบโตและมีระดับการพัฒนาที่ดีขึ้น ความสัมพันธ์กับเพื่อนได้ค่อย ๆ เปลี่ยนจาก ‘ผู้รับ’ มาเป็นแบบ ‘หุ้นส่วน’
ไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนา หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ หรือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมีกลไกการประชุมในระดับต่าง ๆ เป็นกลไกการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเพื่อน ๆ ไม่ว่า
จะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม หรือการประชุมระดับผู้นำประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เรียกว่า ‘อาเซียน + 3’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นเป็นประจำทุกปีเช่นกันในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม
ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเพื่อน ๆ ในรอบ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดผลในด้านต่าง ๆ มากมาย อาทิ การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันเพื่อป้องกันข้อพิพาทที่อาจมีขึ้น การที่ประเทศเพื่อน ๆ ของอาเซียนให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและทางเทคนิคแก่โครงการเพื่อการพัฒนาของอาเซียน โดยเฉพาะโครงการลดช่องว่างระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิมกับกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ซึ่งเป็นสมาชิกที่เพิ่งเข้าร่วมอาเซียนได้ไม่นานนัก รวมไปถึงความพยายามในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีร่วมกันระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ หรือสหภาพยุโรป อันจะส่งผลให้ประชาชนโดยทั่วไปของอาเซียน รวมทั้งชาวไทย ได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพดีในราคาที่ถูกลง

นอกจากอาเซียนมีความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียแบบรายประเทศ และในกรอบที่เรียกว่า ความร่วมมืออาเซียน + 3 ซึ่งได้จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้แล้ว อาเซียนยังได้เป็นแกนหลักในการจัดให้มีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อีกด้วย ซึ่งการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ถือเป็นเวทีของผู้นำที่จะแลกเปลี่ยนความคิดและวิสัยทัศน์การพัฒนา ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ในตอนนี้ อาเซียนกำลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง ‘ประชาคมอาเซียน’ ภายในปี 2558 ดังนั้น การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเพื่อน ๆ ในอนาคตนั้น จึงจะเน้นที่การประสานความร่วมมือระหว่างกันในกิจกรรมและโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นประชาคมอาเซียน

จะว่าไปแล้ว การมีเพื่อนเยอะและมีเพื่อนที่ดีของอาเซียน ก็เปรียบเสมือนกับการที่เรามีกัลยาณมิตร หรือการที่เราได้เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เราไม่ทางตรงก็ทางอ้อมนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น