ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (ASEAN Ministers Responsible for Culture and the Arts - AMCA) ครั้งที่ 5 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อเร็วๆ นี้ นอกจากจะมีการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียนแล้ว ยังมีรัฐมนตรีวัฒนธรรมประเทศคู่เจรจา
งานนี้ สุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขอสวมบทนักข่าวจำเป็นเก็บตกเรื่องราวข้อสรุปต่างๆ ในเวทีนี้มาบอก วันแรกเป็นการประชุมเอเอ็มซีเอ โดยที่ประชุมได้หารือเฉพาะในกลุ่มรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียน ถึงแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือด้านการส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียนภายใต้กรอบแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC Blueprint) และการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยเอกภาพของอาเซียนในความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างประชาคมอาเซียน (Declaration on ASEAN Unity in Cultural Diversity: Towards Strengthening ASEAN Community)
ได้แก่ การส่งเสริมความตระหนักในความเป็นอาเซียน การปกป้องส่งเสริมและแสวงประโยชน์จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอาเซียน การส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรมในฐานะเครื่องมือในการนำไปสู่สังคมเอื้ออาทรและแบ่งปัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการสร้างเครือข่ายในบริบททางวัฒนธรรม ร่วมมือกับสาขาอื่นๆ ในการใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อในการจัดการภัยพิบัติ ด้านมนุษยธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ การศึกษา และกีฬา
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาความคืบหน้าในการดำเนินความร่วมมือด้านวัฒนธรรมอาเซียนภายในภูมิภาค และกำหนดประเด็นสำคัญที่จะดำเนินการใน 2 ปีข้างหน้า ภายใต้กรอบปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเอกภาพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมสู่ประชาคมอาเซียน แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และแผนงานหลักด้านความเชื่อมโยงอาเซียน เป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างประชาคมอาเซียนในปี 2558
"ในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนได้เห็นชอบกับการส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนในด้านวัฒนธรรมและศิลปะ โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปกป้องและส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมอาเซียน ส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านวัฒนธรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ส่วนเยาวชนที่ประชุมเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนในงานวัฒนธรรมโดยผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคมสมัยใหม่ ได้แก่ เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ รวมทั้งงานอาสาสมัครทางวัฒนธรรม, วิสาหกิจทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน และกิจกรรมเชื่อมโยงอื่นๆ
ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีวัฒนธรรมจากแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนได้กล่าวถึงกิจกรรมโครงการด้านวัฒนธรรมอาเซียน อาทิ บรูไนดารุสซาลาม เสนอการส่งเสริมยุทธศาสตร์การตลาดสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม รวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งการรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม อินโดนีเซียเสนอการดำเนินงานความร่วมมือด้านโบราณคดี คือ "Homoerectus Occupation in Southeast Asia" เนื่องจากหลายประเทศในอาเซียนเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์ยุคแรกเริ่ม แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมและวิวัฒนาการของสังคมในภูมิภาคอุษาคเนย์ ส่วนมาเลเซียเสนอการเสริมสร้างความตระหนักในวัฒนธรรมอาเซียนในหมู่เยาวชนผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังสนับสนุนการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของอาเซียน
รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเทศไทย ตนในฐานะตัวแทนได้กล่าวสนับสนุนบทบาทของวัฒนธรรมในการสร้างอาเซียนให้เป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทรและการแบ่งปัน ซึ่งในการดำเนินงาน นอกจากอาเซียนได้เน้นเยาวชนเป็นเป้าหมายหลักแล้ว ควรให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้สูงอายุในการถ่ายทอดและส่งผ่านคุณค่าทางวัฒนธรรมสู่คนรุ่นเยาว์ด้วย ทั้งนี้ ครอบครัวเป็นหน่วยเล็กๆ ในสังคมที่จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันความสำเร็จของการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้นการสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมคุณค่าของครอบครัวจะช่วยสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมเช่นกัน
เหยี่ยวข่าวจำเป็น เล่าถึงในช่วงท้ายของการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียนร่วมกับประเทศคู่เจรจาอาเซียน+3 (ASEAN+3) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้พิจารณาให้ความเห็นขอบแผนงานความร่วมมือด้านวัฒนธรรมภายใต้กรอบอาเซียน+3 โดยมีแผนงานหลักในด้านต่างๆ ได้แก่ การปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงมีการหารือแลกเปลี่ยนด้านนโยบายการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในการนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะให้มีการประชุมสัมมนาเพื่อหารือในรายละเอียดการเสนอกิจกรรมความร่วมมือภายใต้แผนงานดังกล่าวต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น