วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หมอวรงค์

         จังหวัด พิษณุโลกมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร 5 เขต แต่ในช่วงปีพ.ศ.2555 นี้ต้องยอมรับว่า นพ.วรงค์  เดชกิจวิกรม ส.ส.ประชาธิปัตย์พิษณุโลก เขต 1 หรือ หมอวรงค์ เป็นผู้แทนฯพิษณุโลกที่โดดเด่นมากที่สุด

นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรกรุงเทพมหานคร ระดับปริญญาตรี แพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และวุฒิบัตรแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง สาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่




นายแพทย์วรงค์ เคยรับราชการเป็นนายแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลโซ่พิสัย จ.หนองคาย เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรเจริญ จ.หนองคาย เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ต่อมาจึงได้ลาออกจากราชการเพื่อเข้าสู่งานการเมือง และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใน การเลือกตั้ง พ.ศ. 2548, 2550 และ พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ นายแพทย์วรงค์ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร

เส้นทางการเมืองของนพ.วรงค์ หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม หมอวรงค์ เริ่มต้นจากมาเล่นการเมืองระดับส.ส.ครั้งแรกด้วยแรงผลักดันจากนางเปรมฤดี  ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ในครั้งนั้น นพ.วรงค์ เปิดตัวด้วยการเดินตามนางเปรมฤดี ลงชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาล  และมีความพยายามผลักดันเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย แต่เบียดแรงสนับสนุนสู้ปลัดพิทักษ์  ไม่ได้ ทำให้การเริ่มต้นทางการเมืองของหมอวรงค์จึงมาสังกัด พรรคประชาธิปัตย์สมัยแรก และเหนียวแน่นเรื่อยมากับพรรคประชาธิปัตย์จนถึงปัจจุบัน มีทีมงานการเมืองของตนเอง และลงพื้นที่ตำบลต่าง ๆ ในเขตอำเภอเมืองจนฐานเสียงแน่นพอสมควรและได้รับเลือกเข้าอีกสมัย

อย่างไรก็ตาม ขั้วพันธมิตรที่เคยสนับสนุนทางการเมืองก็ต้องกลับกลายเป็นขั้วตรงข้าม ใน สมัยการเลือกตั้งส.ส.พิษณุโลกครั้งล่าสุด  กรกฏาคม 2554 หมอวรงค์ พรรคประชาธิปัตย์ ลงแข่งกับพรรคเพื่อไทย น.ส.ณัฐทรัชต์ ชามพูนท หรือ น้องใหม่ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.พิษณุโลก บุตรสาวของส.ส.พิษณุโลกหลายสมัย นายสุชน ชามพูนท และนางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศนมตรีนครพิษณุโลก ช่วงนั้น นางเปรมฤดี  ชามพูนท ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เพื่อเลือกตั้งใหม่ และระหว่างเดินหาเสียงลงมาช่วยลูกสาวหาเสียงอย่างเต็มที่
การเลือกตั้งกรกฏาคม 2554 ถือเป็นการแข่งขันที่เหนื่อยที่สุดของหมอวรงค์ และเริ่มมีสัญญาณการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ในช่วงของการหาเสียง มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างหมอวรงค์ กับสท.แดง คนสนิทของนางเปรมฤดี  ชามพูนท ถึงขั้นขึ้นแจ้งความที่โรงพัก แต่สุดท้าย ก็ผ่านจนถึงวันลงคะแนน และหมอวรงค์ก็ได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นส.ส.พิษณุโลกอีกสมัย

ระหว่างกลับเข้าไปเป็นส.ส.ฝ่ายค้าน หมอวรงค์ได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ และมามีบทบาทโดดเด่นเป็นข่าวดังอีกครั้งในสมัยผู้ว่าฯปรีชา  เรืองจันทร์ ครั้งนั้นนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หน.พรรคประชาธิปัตย์เดินทางมาแจกถุงยังชีพที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ในการประชุมสภาฯ มีการกล่าวหาว่า นำถุงยังชีพของกระทรวงพลังงานไปแจก  แต่ข่าวนี้ ไม่โด่งดังทำการประชุมสภาฯครั้งล่าสุด ที่มีเหตุวุ่นวายในสภา นพ.วรงค์ได้ขว้างข้อบังคับการประชุมในสภาฯ และนำมาสู่เหตุการณ์หนุน-ต้านหมอวรงค์ที่จังหวัดพิษณุโลกในเดือนมิถุนายนนี้ มีการขึ้นป้ายขับไล่หมอวรงค์ มีการเคลื่อนขบวนมวลชนต่อต้านการกระทำของหมอวรงค์ ขณะที่คนรักหมอวรงค์เองก็มีมากเช่นกัน มีการขึ้นป้ายสนับสนุน มอบโล่ ดอกไม้ให้กำลังใจหมอวรงค์ด้วยเช่นกัน


ในปี 2555 นี้ จึงถือได้ว่า หมอวรงค์ เป็นส.ส.ที่โดดเด่นมากที่สุดในจังหวัดพิษณุโลก คนรักก็มาก คนชังก็มี เป็นนักการเมืองในจังหวัดพิษณุโลก ที่อยู่ในกระแสข่าวฮ็อตมากที่สุดคนหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น