วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Energy Forum ค้นหาทางออกไฟฟ้าไทยที่พิษณุโลก

วันที่ 17 สิงหาคม 2555 ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอล์ โรงแรมอมรินทร์ ลากูน อ.เมือง จ.พิษณุโลก หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯธรกิจและสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดเวทีสัมมนา Enegy Forum สัญจรปีที่ 2 ทางเลือก ทางรอด ไฟฟ้าไทย เพื่อสานต่อแนวคิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการหาทางออกด้านพลังงานไฟฟ้าไทยให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน


นางสาวดวงกมล โชตะนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เนชั่นมัลตีมีเดียกรุ๊ป กล่าวว่า หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างมากกับการเปิดเวทีสัมมนา Enegy Forum สมดุลพลังงานไฟฟ้าเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนเมื่อปี 2554 ใน 5 จังหวัด แต่ปัญหาด้านพลังงานไฟฟ้ายังถือเป็นประเด็นสำคัญที่คนไทยทุกภาคส่วนต้องตระหนักและร่วมค้นหาทางออกสร้างสมดุลด้านพลังงานไฟฟ้าจากการระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในสังคม ดังนั้น ในปี 2555 จึงสานต่อเป็นปีที่ 2 จัดเวทีสัญจร ทางเลือกทางรอดไฟฟ้าไทยใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ อุบลราชธานี พิษณุโลก ชุมพร และนครศรีธรรมราช ซึ่งประเดิมจัดไปแล้วที่กรุงเทพฯเมื่อ 28 มิถุนายน 2555 และอุบลราชธานีเมื่อ 20 กรกฏาคม 2555

ส่วนที่พิษณุโลกจัดในวันที่ 17 สิงหาคม 2555 ในงานเริ่มต้นด้วยการบรรยายพิเศษ ข้อเท็จจริงสถานการณ์พลังงานของประเทศไทย จากนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และมีการเสวนา หัวข้อ พลังงานทดแทน โอกาสประเทศไทย วิทยากรประกอบด้วย นายชวลิต พิชาลัย รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายทะนงศักดิ์ วงษ์ลา ผู้อำนวยการกลุ่มราคาไฟฟ้าและคุณภาพบริการ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน นายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายสุรจิต วงศ์กังแห ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.สุขฤดี สุขใจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีนางสาวเฉลา กาญจนา บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจให้การต้อนรับ ขณะที่ภาคบ่าย ผู้เข้าร่วมเสวนาได้มีส่วนร่วมในการหาทางออกด้านพลังงานไฟฟ้าไทย ด้วยการแบ่งกลุ่มเวิร์คช็อป 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มนักธรกิจ กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มประชาสังคม เพื่อนำผลการระดมสมอง นำเสนอต่อผู้รับผิดชอบด้านนโยบายพลังงานของประเทศต่อไป

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า พลังงานของโลกยังคงต้องพึ่งพิงจากพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ขณะที่พลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน กำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะกลายเป็นพระเอก มีบทบาทในการเป็นพลังงานในอนาคต ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม พลังงานชีวมวล ส่วนพลังงานนิวเครียส์แม้จะเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ต้นทุนถูกทดแทนฟอสซิลได้ แต่ปัญหาคือเกรงอุบัติเหตุและการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี จึงอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของพลังงานทดแทนของประเทศไทย ขณะที่ประเทศเวียดนามได้เดินเต็มตัว มีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 2 แห่งในอีก 7 ปีข้างหน้า

สำหรับประเทศไทย พึ่งพลังงานจากฟอสซิลเป็นหลัก ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ต้องนำเข้าถึงปีละ 1.2 ล้านล้านบาท และเมื่อลงลึกถึงพลังงานไฟฟ้า ประเทศไทย มีการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติสูงถึง 65 % ถ่านหิน 65 % น้ำมัน 0.2 % พลังงานจากน้ำ 8 % พลังงานหมุนเวียน 1 % และกำลังสุ่มเสี่ยงกับวิกฤติการสำรองพลังงานไฟฟ้า เราเคยเจอวิกฤติพม่าไม่สามารถส่งก๊าซให้ได้ ท่อก๊าซอ่าวไทยรั่ว ในช่วงพีคสุดเมื่อเมษายน 2555 ไทยใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดถึง 26,000 เมกกะวัตต์ เหลือการสำรองไฟฟ้าแค่ 5 %

นายมนูญ กล่าวต่อว่า นโยบายด้านไฟฟ้าไทยในอนาคต ควรลดการพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากก๊าซธรรมชาติลง เพราะที่ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติสำองอยู่ก็ใช้ได้แค่ 20-30 ปีเท่ากัน การนำเข้าพลังงานไฟฟ้าด้วยการผลิตจากพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ควรเพิ่มขึ้นมาในสัดส่วนไม่เกิน 15 % จากปัจจุบันนำเข้าพลังงานไฟฟ้า 6 % ต้องเร่งสร้างพลังงานทดแทนจากส่วนต่าง ๆ เข้ามาเสริม และต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กฟผ.และประชาชน ให้ความรู้กับประชาชนได้ตระหนักถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

นายชวลิต พิชาลัย รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ทางออกของประเทศไทยในอนาคตคือการประหยัดพลังงานเป็นลำดับต้น ๆ เลย ทั้งภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน ต้องกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ต้องลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงมา และเร่งสร้างแหล่งพลังงานทดแทนจากพลังงานชีวมวล ได้แก่ โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากแกลบ ชานอ้อย ฟางข้าว กะลาปาล์ม

นายทนงศักดิ์ วงษ์ลา ผู้อำนวยการกลุ่มราคาไฟฟ้าและคุณภาพบริการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2549 รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อจูงใจให้มีการผลิตพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเข้ามาเสริมกับระบบส่งไฟของกฟผ. พลังงานแสงอาทิตย์เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้ว 2,000 เมกะวัตต์ แต่พลังงานจากลม พลังงานจากขยะยังมีการลงทุนน้อย ทั้งนี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลให้ได้สัดส่วน 25 % ของกำลังผลิตทั้งประเทศ

นายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้า คำนึงเรื่องเทคนิคให้มีความมั่นคงของระบบส่งไฟเป็นลำดับต้น รองลงมาเรื่องราคา กฟผ.จะผลิตไฟฟ้าที่ใช้ต้นทุนแพงมากไม่ได้ ราคาต้องเหมาสม โดยเฉพาะการเปิดเสรีอาเซียนราคาจะสำคัญมาก หากราคาไฟฟ้าของประเทศไทยสูง จะเป็นปัจจัยในการย้ายฐานการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านได้ และเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนพลังงานหมุนเวียนนั้น มีทั้งพลังงานชนิดที่พึ่งได้ ไก้แก่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล และพลังงานไฟฟ้าที่พึ่งไม่ได้ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม กฟผ.จะเป็นต้อง ใช้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานจากฟอสซิลเป็นหลัก เสริมกับพลังงานหมุนเวียน

นายสุรจิต วงศ์กังแห ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจ การใช้พลังงานไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรม เป็นการต่อยอดให้กับสินค้าภาคการเกษตรของประเทศ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ภาคอุตสาหกรรม ยังต้องใช้พลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนพลังงานชีวมวลเราก็ให้ความสำคัญ อย่างในจังหวัดพิษณุโลก บริษัท วงษ์พาณิชย์กรุ๊ป ผู้รับซื้อของเก่ารายใหญ่ก็ได้ทำหน้าที่รวบรวมวัตถุดิบชีวมวล ส่งป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่จ.พิจิตรถึงวันละ 10 ตัน ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม มีความสนใจอยากลงทุนโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล แต่ประสบปัญหาเรื่องแรงจูงใจ การคืนทุนที่ช้า

ดร.สุขฤดี สุขใจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประเทศไทยยังใช้พลังงานหมุนเวียนไม่เต็มศักยภาพ ปัจจุบัน ยังต้องพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินงานเรื่องพลังงานทดแทนมา 20 ปีแล้ว เริ่มจากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมกับสร้างบุคคลากรด้านพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า พลังงานฐาน ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลยังจำเป็นต้องรักษาฐานการผลิตไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคง พร้อมกับเริ่มดำเนินการจัดหาพลังงานหมุนเวียนมาทดแทน และต้องเรียงลำดับความสำคัญดำเนินการให้ประชาชนทุกภาคใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีแผนประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน สำหรับพลังงานชีวมวลนั้น หลายประเทศในยุโรป ได้หันมาใช้พลังงานชีวมวลมากขึ้น เดนมาร์กใช้ 25.30 % เยอรมันจะยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า และตั้งเป้าในอีก 30 ปีข้างหน้าร้อยละ 80 จะมาจากพลังงานชีวมวล ขณะที่หลายประเทศ มองเรื่องพลังงานหมุนเวียนในมิติเศรษฐกิจ การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ วัตถุดิบทางการเกษตรจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น