ตามรอยพระมหากรุณาพระราชินี จากการฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบสาน
สู่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
และนิทรรศการศิลป์แผ่นดินครั้งที่ ๕
เมื่อก่อนฉันเคยสงสัยว่า ทำไมเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร จึงฉลองพระองค์ด้วยแพรพรรณอันดูหรูหรา ทั้งที่เสด็จฯ ไปในพื้นที่ชนบท หรือถิ่นทุรกันดาร ซึ่งดูไม่ทะมัดทะแมง ไม่เหมาะกับสถานที่ จนกระทั่งเมื่อหลายปีก่อน ฉันได้ทำงานเกี่ยวกับผ้าไทย ได้มีโอกาสศึกษา ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าไทยแล้ว จึงได้กระจ่างแก่ใจว่า พระองค์ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยเพื่อรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้กับชาวบ้านว่า ให้ช่วยกันทอผ้า แล้วราชินีจะเป็นคนสวมใส่เอง นับเป็นกำลังใจอันใหญ่หลวงแก่ชาวบ้าน ทั้งยังเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นเห็นว่า เสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยนั้นมีความงดงามเพียงใด เพื่อให้เกิดความนิยมผ้าไทย นำไปสู่การพลิกฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
“ไปดูงานที่ไหนกันดี” ฉันเอ่ยขึ้นในที่ประชุม เนื่องจากต้องเร่งใช้เงินงบประมาณหมวดการอบรมและสัมมนาให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีงบประมาณ หลังจากการนำเสนอ พูดคุย ถกเถียงกันไม่นานนัก ในที่สุดก็สรุปได้ว่า เราจะไปศึกษาดูงาน ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และชมนิทรรศการศิลป์แผ่นดินครั้งที่ ๕ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
กองทัพของเราเดินทางไปถึงบริเวณพระบรมมหาราชวังประมาณ ๙.๓๐ น. ปรากฏว่าล้วนคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ทั้งนักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เรียงแถวเพื่อเข้าชมพระบรมมหาราชวัง แต่วัตถุประสงค์ของพวกเรามุ่งไปยังหอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้เป็นสมบัติของชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าในราชสำนักและท้องถิ่น ด้วยทรงเห็นว่าผ้าไทยงดงามและมีเอกลักษณ์ ควรอนุรักษ์ไว้มิให้สูญหาย ผลงานที่นำมาจัดแสดงรวบรวมจากพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะ พระปรีชาสามารถ และพระราชทรัพย์ ตลอดระยะเวลา ๕๐ ปี เพื่อให้พสกนิกรมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างยั่งยืน เราซื้อบัตรราคา ๑๕๐ บาท เข้าชมนิทรรศการทั้งหมด ๔ ห้อง
ห้องจัดแสดง ๑ “ราชพัสตราจากผ้าไทย” จัดแสดงฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบไทยและต่างชาตินำผ้าไหมไทยมาใช้ในการตัดเย็บ ทำให้ผ้าไทยที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ และเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ถือเป็นการเผยแพร่และส่งเสริมผ้าไทย รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมด้านการแต่งกายของสตรีไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยนั้นมีความงดงามยิ่ง สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น ทำให้เกิดความนิยมสวมใส่ชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทย ทั้งในและต่างประเทศ
ห้องจัดแสดง ๒ “ไทยพระราชนิยม” จัดแสดงฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนผ้าและเครื่องแต่งกายในราชสำนัก โดยฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่าง ๆ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ชุดไทยพระราชนิยม
พวกเราได้ชมวิดีทัศน์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของชุดไทยพระราชนิยม สำหรับฉันเน้นการดูรูปแบบการจัดทำวิดีทัศน์มากกว่าเนื้อหา เพราะทราบดีอยู่แล้วว่า ชุดไทยพระราชนิยม เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งแรก มีพระราชดำริว่า สตรีไทยไม่มีเครื่องแต่งกายที่เป็นชุดประจำชาติเหมือนสตรีชาติอื่น ๆ เช่น อินเดียมีส่าหรี หรือญี่ปุ่นมีกิโมโน จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ผู้เชี่ยวชาญค้นคว้าจากประวัติศาสตร์การแต่งกายของสตรีไทยในราชสำนักโบราณและออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่าง ๆ โดยผสมผสานระหว่างรูปแบบการแต่งกายสตรีไทยในอดีตกับการตัดเย็บในปัจจุบันที่ง่ายต่อการสวมใส่และมีความเหมาะสมกับยุคสมัย ระหว่างเสด็จฯ ไปทรงเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น
นานาชาติจึงได้มีโอกาสตื่นตาตื่นใจกับพระสิริโฉมของสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศไทยที่ทรงฉลองพระองค์ ซึ่งเรียกว่าชุดไทยพระราชนิยมในเวลาต่อมา และกลายเป็นต้นแบบของชุดไทยประจำชาติทั้งหมด ๘ แบบ ประกอบด้วย ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ และชุดไทยศิวาลัย
รวมทั้งยังได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ดีไซเนอร์ชั้นนำของฝรั่งเศส ปิแอร์ บัลแมง และช่างปักเสื้อชื่อดังแห่งยุค ฟรองซัวส์ เลอซาจ เพิ่มความงดงามตระการตาให้ชุดไทยพระราชนิยมและชุดราตรีแบบตะวันตกสำหรับฉลองพระองค์ โดยทรงแนะนำให้ผสมผสานลวดลายแบบไทยโบราณเข้ากับวิธีปักของห้องเสื้อชั้นนำของยุโรป ครั้งนั้นมีการใช้ไหมเงินไหมทอง ผสมเข้ากับพลอยสีและลูกปัดเป็นครั้งแรก
ห้องจัดแสดง ๓ – ๔ “พระหัตถ์ที่ทรงงานเพื่อแผ่นดิน” บอกเล่าเรื่องราวจุดกำเนิดแห่งศิลปาชีพ
ย้อนไปในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดนครพนม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริถึงการช่วยเหลือว่า “การแจกของแก่ผู้ประสบภัยเปรียบเสมือนโยนก้อนหินเล็ก ๆ ลงแม่น้ำสักเท่าใดจึงจะเพียงพอให้เขาได้อยู่รอด น่าจะหาอะไรให้เขาทำ เพื่อให้มีรายได้สม่ำเสมอต่อไป”
แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเสมือนแรงบันดาลใจ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถจึงทรงช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมให้รู้จักมีวิชาชีพที่ทำมาหากินในครัวเรือนได้ด้วย พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ในขณะที่โลกทุกวันนี้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมัน หลายประเทศมีปัญหาด้านกำลังการผลิตเครื่องจักรยนต์กลไก เราควรคิดเรื่องการถอยหลังนิดหนึ่ง เรื่องการใช้แรงงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ประเทศไทยเรามีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่แล้ว เราปลูกข้าวเอง ทอผ้ากันเอง จักสาน ทำงานฝีมือฝีมือเป็นเครื่องใช้ไม้สอยกันเองในบ้าน ก็น่าจะช่วยกันใช้แรงงานเรื่องเหล่านี้ ทำให้เกิดรายได้ขึ้นในครอบครัว”
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์ในขณะนั้น ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม เพื่อสำรวจความเป็นอยู่ของราษฎร และพระราชทานความช่วยเหลือ โดยได้ทรงกำชับว่า “แม้ผ้าถูเรือนก็อย่าละเลย” เพราะอาจได้พบลายผ้าโบราณ ซึ่งจะสืบไปถึงช่างทอและเรื่องราวต่าง ๆ ได้
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยในงานฝีมือพื้นบ้านหรือศิลปกรรมพื้นบ้านหรือศิลปกรรมพื้นบ้านที่จัดทำขึ้นโดยใช้วัสดุในท้องถิ่น พระองค์จึงส่งเสริมในเรื่องนี้โดยการจัดให้มีครูออกไปฝึกสอนราษฎร เป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพของงานได้ดียิ่งขึ้น เมื่อราษฎรมีความชำนาญแล้ว ผลงานที่ผลิตออกมาก็จะทรงรับซื้อไว้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งงานนี้ต่อมาได้ขยายออกเป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ และได้ทรงจัดตั้งโรงฝึกอบรมศิลปาชีพขึ้นแห่งแรกที่พระตำหนักสวนจิตรลดา และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศูนย์ฝึกตามภาคต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้ราษฎรได้รับความสะดวก ผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิฯ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ณ ห้องจัดแสดง “พระหัตถ์ที่ทรงงานเพื่อแผ่นดิน” นี้ ฉันได้ศึกษาภูมิปัญญาไทยที่ผสมผสานอย่างลงตัวกับวิทยาการสมัยใหม่อย่างวิดีทัศน์ ฉันสัมผัสมือบนหน้าจอเพื่อเลือกดูลวดลายผ้าแต่ละชนิด ได้สัมผัสใจลงบนแววตาและน้ำเสียงของชาวบ้านผู้ถักทอผืนผ้าด้วยความภาคภูมิใจ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อย่างล้นพ้น ดังเช่น เรื่องราวของนางไท้ แสงวงศ์ ชาวบ้านหนองเข้ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปถึงบ้านรวมถึง ๓ ครั้ง จาก พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๒๓ และได้พระราชทานฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่สีม่วงจากห้องเสื้อบัลแมง โดยปิแอร์ บัลแมง นักออกแบบชาวฝรั่งเศส เพื่อให้นางใช้เป็นแบบสำหรับทอขึ้นใหม่ ซึ่งนางไท้ได้เก็บผ้าผืนนั้นไว้บนหิ้งสูง แล้วบูชาด้วยดอกไม้สีขาว จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เรื่องราวนี้ถ่ายทอดผ่านการบอกเล่าของนางไท้ด้วยสีหน้าอันเปี่ยมสุข และปิดท้ายด้วยความประทับใจกับผ้าไหมมัดหมี่สีม่วงผืนจริงที่วางอยู่บนหิ้ง
เหล่านี้ทำให้ฉันนึกถึงข้อความในบทความตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง ในนิตยสารหญิงไทย ฉบับปักษ์แรก เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กล่าวไว้ว่า “บางครั้งมีผู้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า ชาวบ้านบางรายนำผ้ามาถวายเพื่อขอรับพระราชทานเงิน แต่ผ้าชิ้นนั้นถูกแบ่งเป็นสองหรือสามผืน เพื่อให้มีผู้รับพระราชทานเงินได้ถึงสองหรือสามราย ทั้ง ๆ ที่ผู้ทอมีเพียงคนเดียว เมื่อเจ้าหน้าที่สงสัยและนำผ้ามาวางต่อกัน จึงทราบว่าเป็นผ้าชิ้นเดียวกัน แทนที่จะทรงตำหนิว่าชาวบ้านขี้โกง กลับทรงเห็นใจว่า ชาวบ้านทำไปเพราะความยากจน ฉะนั้นปัญหาของชาวบ้านทุกปัญหาเป็นสิ่งที่พระองค์จะต้องทรงพิจารณาหาวิธีแก้ไขต่อไป”
ก่อนกลับ พวกเราไม่ลืมที่จะแวะไปยังร้านพิพิธภัณฑ์ เพื่อจับจ่ายสินค้าเกี่ยวกับผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการ และผลิตภัณฑ์จากสมาชิกศิลปาชีพทั่วประเทศ พี่ของเราคนหนึ่งหลังจากเดินวนเวียนอยู่หลายรอบ ในที่สุดก็อดรนทนไม่ไหวซื้อกางเกงผ้าไหมสีดำเนื้อดี ๑ ตัว พี่บอกว่าเหลืออยู่ตัวเดียว ฉันเลยแซวกลับไปว่า “สงสัยรอพี่มาซื้ออยู่น่ะ” นอกจากนี้เราได้หนังสือเกี่ยวกับผ้าไทยในราชสำนักและมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สำหรับใช้ในสำนักงาน จำนวน ๓ เล่ม รวมราคากว่า ๕,๐๐๐ บาท นับว่าราคาสูง แต่ก็เทียบไม่ได้กับคุณค่าที่สลักอยู่ภายใน
ออกจากพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พวกเรามุ่งหน้าไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เพื่อชมนิทรรศการศิลป์แผ่นดินครั้งที่ ๕ ซึ่งเราไม่ต้องเสียค่าบัตรเข้าชมในราคา ๑๕๐ บาท เนื่องจากหนึ่งในทีมของเรารู้จักกับคนทำงานที่นี่ คือ คุณโยธิน สาทอง ตำแหน่งพลปืนเล็ก สังกัดกองพันทหารราบที่ ๔ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี
นิทรรศการศิลป์แผ่นดินครั้งที่ ๕ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อราษฎรไทยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งเพื่ออนุรักษ์งานหัตถกรรมไทยโบราณ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของมูลนิธิฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะ และวัฒนธรรมไทยได้อย่างงดงาม โดยฝีมือลูกหลานชาวนา ชาวไร่
ภายในงานมีงานศิลป์ ฝีมือประณีตจำนวนมาก ผลงานของสมาชิกจากโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา อาทิ บุษบกจตุรมุขพิมาน พระที่นั่งพุดตานถมทอง พระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง สีวิกากาญจน์ เรือพระที่นั่งจำลองศรีสุพรรณหงส์ ฉากผ้าปักป่าหิมพานต์ ฉากไม้แกะสลักตำนานเพชรรัตน์ โคมระย้าแต่งปีกแมลงทับ เรือสำเภาพระมหาชนก ม้านิลมังกร รอยพระพุทธบาทถมทอง ฯลฯ แต่ละชิ้นใช้เวลาประดิษฐ์เป็นเวลาแรมเดือน บางชิ้นแรมปี บ้างก็มากกว่า ๑ ปี อันฝีมือก็สุดแสนเลอเลิศอยู่แล้ว หลายชิ้นยังประดับตกแต่งด้วยทองคำ เพชรพลอย สะท้อนระยิบระยับแวววาว ตระการตายิ่งนัก
ขอยกตัวอย่างผลงานสุดประทับใจ
ตำนานเพชรรัตน์ เป็นฉากจำหลักไม้สักทอง ตั้งประกบด้วยเสาเม็ดทรงมัณฑ์บนม้าไม้ขาคู้ จำหลักลายใบเทศ พื้นฉากจำหลักไม้เรื่อง “ตำนานเพชรรัตน์” ความว่า เทพยดาทั้งหลาย อีกทั้งฤาษีสิทธิ์ และคนธรรพ์ (เทพที่รับใช้เทวดา) พากันขึ้นเฝ้าพระอิศวร ทูลถามบ่อเกิดแห่งเพชรรัตน์ทั้ง ๙ ประการ พระอิศวรแนะให้ไปถามฤาษีอังคต ผู้มีอายุยาวนานมาตั้งแต่ครั้งกฤติยุค พระฤาษีจึงเล่าว่า บรรดาเทพนิกร ฤาษีสิทธิ์ พิทยาธรทั้งปวง ประสงค์จะอำนวยเพชรรัตน์ทั้ง ๙ จึงทูลให้มเหสักข์นาม มหาพลาสูร สร้างไว้เป็นสวัสดิมงคลแห่งโลก ท้าวจึงบำเพ็ญตบะอยู่ ๗ วัน จนสิ้นชีพ อีก ๗ วัน ร่างของท้าวจึงแปรสภาพไปเป็นแก้ว ๙ ประการ คือหัวใจเป็นเพชรและทับทิม นัยน์ตาขวาเป็นแก้วไพฑูรย์ นัยน์ตาซ้ายเป็นแก้วโกเมน ลิ้นเป็นแก้วพระกาฬ น้ำเลี้ยงหัวใจเป็นแก้วจันทกานต์ เป็นต้น อนึ่งเมื่อท้าวมหาพลาสูรสิ้นชีวิต มีพระยาพาสุกินนาคราชสูบโลหิตท้าวจนแห้ง นาคนั้นถูกครุฑจับไป ระหว่างทางสำรอกเลือดเป็นแก้วนาคสวาสดิและมรกฏ น้ำลายเป็นครุทธิการ
ฉากไม้นี้เล่าเรื่องราวของตำนานเพชรรัตน์ ด้วยฝีมือการแกะสลักของช่างจำนวน ๖๙ คน ใช้เวลาทำ ๑๐ เดือน นับเป็นสุดยอดของการแกะสลักไม้ จัดทำขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ และในโอกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๐
ผ้าปักไหมน้อย “ป่าหิมพานต์” เป็นผลงานผ้าปักชิ้นใหญ่จัดวางให้ชื่นชมเต็มผนังบริเวณท้องพระโรงด้านหลัง ใช้ไหมน้อยหรือไหมเส้นบางชั้นในสุดของใจไหม เป็นเส้นไหมที่มีความละเอียดอ่อนนุ่ม ปักแบบวิธีโบราณ หักดิ้น แล่งเงิน แล่งทอง สอดไส้ไหมสี เลื่อมเงิน เลื่อมทอง และลูกปัด ลูกแก้วนานาสี ฉากผ้าปักไหมน้อยนี้ ปักหนุนตัวภาพอย่างที่นิยมกันในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “หิมพานต์” ตามคำเสภา ในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน “ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง” ในคำเสภานอกสำนวนหอพระสมุด มีสำนวนความกล่าวถึงม่านชั้นที่ ๑ ที่นางวันทองปักอย่างสวยงาม ฉากผ้าปักไหมน้อยผืนนี้ จัดทำเนื่องในโอกาสเดียวกันกับตำนานเพชรรัตน์ ใช้ระยะเวลาเวลาทำถึง ๒ ปี ๖ เดือน โดยช่าง ๑๖๒ คน
ลายผ้าปักตามคำเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ซึ่งมีเนื้อความกล่าวถึงเมื่อคราวขุนแผนกลับจากการไปออกรบก็รีบไปตามหานางวันทองบนเรือนของขุนช้าง เพราะเมียของตัวคือนางวันทองนั้นถูกขุนช้างหลอกว่าขุนแผนตายไปแล้วในสนามรบ นางวันทองหลงรอคอยแล้วคอยเล่าพระเอกของเราก็ไม่มาเสียที จึงหลงเชื่อเสียทีตกลงแต่งงานเป็นภรรยาอยู่กินกับขุนช้างไปเสียแล้ว เมื่อขุนแผนขึ้นเรือนแต่ก่อนจะได้เห็นหน้าเมียตัวเองก็ได้เห็นผ้าม่านปักกั้นห้องนอนอยู่ ๓ ชั้น ชั้นแรกเป็นลวดลายป่าหิมพานต์ ชั้นที่ ๒ เป็นลายคาวี และชั้นที่ ๓ ลิลิตพระลอ แล้วเมื่อเห็นลวดลายผ้าม่านงดงาม ขุนแผนก็ถึงกับรำพึงรำพันว่า
“...ม่านนี้ฝีมือเจ้าวันทอง นั่นก็ฝีมือน้องพี่จำได้
ปักเป็นรูปเขาพระสุเมรุไกล โตใหญ่สูงเยี่ยมมหึมา
มีรามสูรอสุรี ไล่ชิงมณีเมขลา
แล้วปักเป็นองค์พระสุริยา เสด็จจรส่องโลกจักรวาล...”
เสภาตอนนี้ได้เขียนบรรยายรายละเอียดลักษณะเขาพระสุเมรุเอาไว้ตามความเชื่อในเรื่องพุทธจักรวาลของคนไทย พระสุเมรุเป็นเทือกเขาสูงจากพื้นน้ำ ๘.๔ หมื่นโยชน์ มีภูเขาล้อมรอบ ๗ ทิว เรียกว่า สัณบริภัณฑคีรี คือ ทิวเขา ยุคุนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินตกะ และอัสกัณ เป็นที่สถิตของเทวดาจตุมหาราชิก และบริวาร และความงดงามของสรวงสวรรค์ที่ว่านี้ก็ได้ถูกถ่ายทอดไว้บนผ้าผืนอย่างวิจิตรน่าตื่นตาตื่นใจ นอกจากนี้ยังมีการปักรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น ช้างไทย ๑๐ ตระกูล ตามความเชื่อว่าเป็นช้างที่พระพรหมเนรมิตขึ้นจากกลีบดอกบัว อาทิ ช้างเสาวโภม มีสีกายเขียวตอง ช้างพราหมณ์โลหิตกายสีแดง ช้างไอราพตกายสีเมฆหรือสีฟ้า ส่วนสีดอกอัญชันเรียกช้างมงคลหัตถี สำหรับด้านหน้ามีช้างพระยาฉัททันต์สีเงินยวงที่มีหางและเท้าเป็นสีแดง ช้างบุษปทันต์สีหมากสุก นอกจากนี้ก็ยังปักขบวนพระสุเรนทรจรจักรวาล หรือพระอินทร์ท่องจักรวาลประทับบนช้างเอราวัณ ๓๓ เศียร แต่ปักเพียง ๓ เศียร ช้างเอราวัณมีงาสีเงินยวง เดินไปท่ามกลางขบวนคนธรรพ์และนางฟ้าเชิญเครื่องฟ้อนรำ ผ้าปักงดงามผืนนี้ใช้เวลาปักกว่า ๒ ปี แต่ละฝีเข็มกว่าจะปักถมเต็มพื้นที่ได้ช้าง ๑ ช้าง ต้องใช้แรงงานนักเรียนศิลปาชีพถึงร้อยกว่าคน
ฉันชื่นชมผ้าปักไหมน้อย “ป่าหิมพานต์” ด้วยความตื่นตาตื่นใจ นอกจากฝีมืออันสุดแสนบรรเจิดแล้ว ยังสรรเสริญไปถึงผู้ที่วางแผน ควบคุม ดูแลการปักผ้าผืนนี้ ช่างสุดยอดจริง ๆ
ระหว่างทางกลับบ้าน ฉันปรารภขึ้นมาว่า ไม่น่าเชื่อว่าผลงานอันวิจิตรตระการตาเหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือของลูกหลานชาวไร่ชาวนา ก็มีเสียงตอบกลับมาว่า คนไทยมีฝีมือ ได้รับการถ่ายทอดมาทางสายเลือดอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะแสดงออกมาให้เห็นเมื่อไร ทำให้ฉันนึกถึงพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔
“ชาวต่างประเทศ เช่น คณะทูตก็ได้ถามข้าพเจ้าเมื่อเอาสินค้าของศิลปาชีพไปแสดง ถามว่า เลือกสมาชิกมูลนิธิศิลปาชีพอย่างไร ก็บอกเขาตามตรงว่า เลือกจากความจน เห็นว่าครอบครัวไหนจนที่สุด ไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ ก็จะเลือกคนเหล่านั้น”
“นับแต่ได้ตามเสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ ข้าพเจ้าค้นพบด้วยความภาคภูมิใจว่า คนไทยของเรานี่เป็นผู้ที่มีความสามารถ เพียงแต่ได้โอกาสก็จะสร้างสรรค์ผลงานอันเยี่ยมยอดออกมาได้เสมอ”
พวกเราแสนอิ่มเอิบใจกับการดูงานในครั้งนี้ ฉันรู้สึกมีความสุข ดีไจและภาคภูมิใจเหลือเกินที่ได้เกิดเป็นคนไทย
อภิวันท์นบน้อมสดุดี สมเด็จพระราชีนีแห่งหล้า
อาจิณพระก่อเกื้อกรุณา ศิลปะพาอาชีพเติมเสริมสร้างงาน
ฟื้นฟูจกยกซิ่นในถิ่นเหนือ อีกเอื้อเฟื้อแพรวาหมี่ศรีอีสาน
ไม้สลักปักปั้นสรรค์ผลงาน กระจูดสานย่านลิเภาชาวใต้มี
เฉลิมพระชนมพรรษามาบรรจบ บรรจงนบเบื้องบาทพระทรงศรี
พระชันษายืนยงคงบารมี ทรงเปรมปรีดิ์เกษมศานต์สราญเทอญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
ข้อมูลและรูปภาพประกอบ
๑. แผ่นพับและคู่มือการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และนิทรรศการศิลป์แผ่นดินครั้งที่ ๕
๒. หนังสือด้วยพระบารมีสู่ธรรมชาติและชีวิต เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
๓. นิตยสารหญิงไทย ฉบับปักษ์แรกเดือนสิงหาคม ๒๕๕๐, ฉบับปักษ์หลังเดือนสิงหาคม ๒๕๕๒, ฉบับปักษ์หลังเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕ และฉบับปักษ์แรกเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕
๔. http://www.artsofthekingdom.com, http://www.thaipattern.com, http://siamwood carving.com
นางพรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น