วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555
อันตรายจาก "มือถือ" กรณีศึกษาจากอิตาลี
เมื่อเร็วๆ นี้มีผลพิพากษาคดีเล็กๆ คดีหนึ่งที่น่าสนใจจากประเทศอิตาลี คดีนี้ต่อสู้กันถึงศาลฎีกา ซึ่งพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้ชนะคดี
โจทก์ในคดีนี้คือ อินโนเซนเต้ มาร์โคลินี่ วัย 60 ปี ที่ตามรายงานข่าวบอกว่าต้องใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อ "ทำงาน" นานระหว่าง 5-6 ชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องกันยาวนาน 12 ปี สุดท้ายเขาเกิดก้อนเนื้อซึ่งไม่ใช่มะเร็งขึ้นในศีรษะด้านข้างตรงที่ใช้ โทรศัพท์แนบอยู่เป็นกิจวัตร ก้อนเนื้อดังกล่าวซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่า "นิวริโนมา" ไม่เป็นมะเร็งก็จริง แต่จำเป็นต้องผ่าตัดออก แล้วจนถึงขณะนี้มาร์โคลินี่ ก็ยังเกิดอาการปวดชนิดต้องใช้มอร์ฟีนระงับปวดทุกวัน
มาร์โคลินี่ ฟ้องร้องเรียกเงินค่าเสียหาย เป็นสินไหมทดแทนจากองค์การหลักประกันพนักงาน หรือ "อินาอิล" ของทางการอิตาลี ทางองค์การปฏิเสธ อ้างว่าเขาไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการทำงานเป็นสาเหตุให้เกิดก้อนเนื้อ มาร์โคลินี่ ยื่นฟ้องร้องต่อศาลชั้นต้นในเมืองเบรสชา ศาลพิพากษาว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันว่าการทำงานของเขาก่อให้เกิดก้อนเนื้อ ทางองค์การฯอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุด คำพิพากษาของศาลสูงอิตาลีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ให้พิพากษายืน คดีเป็นอันสิ้่นสุด
แต่ประเด็นที่น่าสนใจจากรณีนี้ก็คือ การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอันตรายจริงหรือไม่? คำตอบในทางวิทยาศาสตร์นั้นต้องยอมรับกันว่า ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด อย่างเช่นในกรณีการศึกษาวิจัยเพื่อการนี้ที่ใช้เวลายาวนานที่สุด คือ 17 ปี ทำการศึกษาต่อผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเดนมาร์ก 358,000 คน ก็ยังไม่พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งมากกว่าคนทั่วๆ ไปแต่อย่างใด ในขณะที่งานวิจัยบางชิ้นชี้ไปในทิศทางตรงกันข้ามก็มี
ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ คนเรา "ใช้" โทรศัพท์มือถือแตกต่างกันออกไป ใช้มากใช้น้อยไม่เท่ากันและลักษณะการถือโทรศัพท์ขณะใช้ก็แตกต่างกันออกไป
ถ้าเกรงๆ ก็ลดการใช้ลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น หรือไม่ก็ ถือห่างออกมาอีกสักหน่อย ก็น่าจะดี
ที่มา : มติชน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น