วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โอกาสของไทยใน AEC

เมืองทวายของพม่าในอนาคตจะกลายเป็น เซินเจิ้นแห่งอาเซียน เพราะในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ภูมิภาคอาเซียนจะมีเมืองท่าที่เป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งใหม่ หลังจากโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-พม่าในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมครบวงจรเสร็จสิ้นเป็นรูปเป็นร่าง สอดรับกับวาระการรวมกลุ่มประเทศในอาเซียนหรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ ต่อไปการเคลื่อนย้ายไปมาของสินค้าและบริการทางทะเลในแถบทะเลจีนใต้ ไม่จำเป็นต้องอ้อมไปไกลถึงแหลมมะละกาอีกต่อไปแล้ว เพราะการขนส่งสินค้าผ่านทวายสามารถลดระยะเวลาได้ประมาณ 10 วัน นับเป็นประตูการค้าใหม่ที่เชื่อมภูมิภาคอาเซียนสู่จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป  ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ถึง 20 % เมืองทวายที่เป็นทวารแห่งใหม่นี้อยู่ไม่ไกลกับประเทศไทย ระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ หรือพอ ๆ กับกรุงเทพฯ ไป จังหวัดกำแพงเพชร โดยเมืองที่เป็นรอยต่อและเป็นศูนย์กลางเชื่อมระหว่าง กรุงเทพฯทวาย ก็คือ กาญจนบุรี

โอกาสทางเศรษฐกิจในจังหวะที่ AEC กำลังจะเกิดขึ้นมาพอดี ทำให้ไทยได้อานิสงส์จากโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมใหม่เมืองทวาย มีดังต่อไปนี้

1. การผลิตและการลงทุน
พม่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์กว่าไทย แรงงานพม่ามีปริมาณมากและค่าแรงถูกกว่าไทยเกือบสิบเท่า ในเขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่มีพื้นที่ 2 แสนไร่ แบ่งเป็น 6 โซน ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำยันปลายน้ำ ดังนั้น นี่เป็นฐานการผลิตใหม่ และโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยจะได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เพราะไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุด ถ้าใครอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เดินเรือ ถ่านหิน เหมืองแร่ โลหะ ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ อัญมณี ประมง อาหารทะเล ห้องเย็น รองเท้า สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ พืชพลังงาน รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการ เช่น บริการโลจิสติกส์และสาธารณูปโภค นี่คือ โอกาสในการสร้างความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับโลก

2. การตลาดและการกระจายสินค้า
ประชากรในประเทศพม่าประมาณ 57.5 ล้านคน แต่มีกำลังการผลิตน้อย ต้องพึ่งพิงสินค้านำเข้าเป็นส่วนใหญ่ นิยมสินค้าไทย เพราะมองว่ามีคุณภาพมากกว่า  ประเทศไทยจะเป็นโลจิสติกส์ฮับเชื่อมการขนส่งและกระจายสินค้าระหว่างภูมิภาคจากซ้ายไปขวา ขวามาซ้าย และจากบนลงล่าง ล่างขึ้นบน โดยธุรกิจที่จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวมและจัดส่งจะมีบทบาทอย่างมากในการบริหารการไหลเวียนของสินค้าในภูมิภาค ได้ประโยชน์จากค่าผ่านทางในเส้นทางโลจิสติกส์สู่อาเซียน

3. ด้านการท่องเที่ยว
เมืองทวายเป็นเมืองท่าที่ติดทะเล มีชายหาดที่ยังสวยงาม และภายใต้โครงการผลักดันให้ทวายเป็น tourism hub แห่งใหม่ของโลก จะทำให้มีการก่อสร้างเขตการท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กัน โดยจะมีการพัฒนาสนามบิน อาคารสำนักงานพาณิชย์ ที่พัก โรงแรม รีสอร์ทแอนด์สปา มารีน่าคอมเพล็กซ์ ที่อยู่อาศัย บ้านตากอากาศ ที่พักใจวัยเกษียณ และห้างศูนย์การค้าเอาท์เล็ต เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง การพักผ่อนหย่อนใจ การติดต่อเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และอื่น ๆ

4. ด้านการศึกษา
อีกโซนหนึ่งซึ่งเป็นเขตชุมชนที่พักอาศัย นอกจากจะมีสวนสาธารณะและศูนย์ราชการต่าง ๆ แล้ว ยังมีเขตพื้นที่การศึกษาที่จัดเตรียมไว้รองรับการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งเป็นแหล่งผลิตช่างฝีมือแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งการศึกษาของพม่ายังไม่พัฒนามากนัก เป็นโอกาสที่สถาบันการศึกษาของไทยจะขยายโอกาสทางการศึกษาไปยังวิทยาเขตทวาย โดยอาศัยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของพม่า จัดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรนานาชาติ

จะเป็นว่าโอกาสที่มาในเวลาไล่เลี่ยกันในอนาคต นั่นคือ AEC + ทวายโปรเจ็คท์ ทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยมีทางเลือกในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบสังคมเศรษฐกิจที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งปัจจัยสำคัญภายในประเทศและนอกประเทศ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วิกฤติเศรษฐกิจการเงิน ค่าครองชีพ อัตราแลกเปลี่ยน ภัยคุกคามจากสินค้าจีน เงื่อนไข กฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ระหว่างประเทศ ฯลฯ ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นจังหวะที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในการทำธุรกิจ จากเดิมที่ผู้ประกอบการไทยเป็น OEM หรือฐานการผลิตให้ประเทศอื่น ๆ มานาน อาจจะต้องเปลี่ยนตัวเอง เป็น ODM หรือ OBM บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ใช้พม่าเป็นฐานการผลิตในกระบวนการก่อนหน้าประมาณ 80 % แล้วมา finishing ในไทย อีก 20% ภายใต้การออกแบบและตีตราเป็นสินค้าไทย ส่งออกขายในระดับโลก ลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าได้ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) หรือ ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็ง ก็จัดตั้งคลังสินค้าห้องเย็นที่กาญจนบุรีไว้รวบรวมสินค้าสำหรับนำเข้าส่งออกกระจายสู่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน หรือ ธุรกิจอัญมณี ซึ่งคนไทยมีฝีมือและความถนัดในด้านการออกแบบเจียระไนและการตลาด ก็สามารถเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

สรุป ไทยสามารถใช้พม่าเป็นฐานการผลิตได้ โดยที่บทบาทของผู้ประกอบการไทยคือ เป็นคนออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า และอุตสาหกรรมบริการทางด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และบริการอื่น ๆ ที่คนไทยทำได้ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น