วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พระราชวังจันทน์

พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองพิษณุโลก บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เป็นอีกหนึ่งวังหลวงที่พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตเคยประทับและใช้เมือง พิษณุโลกเป็นศูนย์กลางการปกครองราชอาณาจักรสยาม เป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อปี 2098 เคยรุ่งเรืองด้วยปราสาทมณเทียร และถูกทิ้งร้างไปเมื่อ 200 ปี ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

        ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะขุดแต่งจนเห็นร่องรอยหลัก ฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ และกำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.พิษณุโลก


        ในอดีตเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทยมาแล้ว 2 สมัย สมัยสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จมาประทับที่เมืองพิษณุโลก พ.ศ.1905-1911 สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงย้ายมาประทับที่เมืองพิษณุโลก พ.ศ.2006-2031 และใช้พระราชวังจันทน์เป็นสถานที่ประทับและออกว่าราชการเมืองใน พ.ศ.2318 แผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าได้ยกทัพล้อมเมืองพิษณุโลกเป็นเวลา 4 เดือน กองทัพพม่าได้เผาบ้านเรือน วัดวาอารามน้อยใหญ่จนพินาศ เมืองพิษณุโลกและพระราชวังจันทน์จึงถูกทิ้งร้างตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

        พระราชวังจันทน์มาปรากฏหลักฐานเด่นชัดอีกครั้งเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จมาที่เมืองพิษณุโลกเพื่อทรงนมัสการพระพุทธชินราช ทรงมีพระราชหัตถาเกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ว่า “มีกำแพงวังสองชั้น กำแพงวังชั้นนอกนั้นทรุดโทรม เหลือพ้นพื้นดินเล็กน้อย กำแพงวังชั้นในยังเหลือพ้นดินถึง 2 ศอกเศษ ในวังยังมีฐาน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นพระที่นั่ง โดยยาว 22 วา กว้าง 7 วา มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เหมือนพระที่นั่งจันทรพิศาล เมืองลพบุรี ฝีมือจะเป็นครั้งกรุงเก่า”


        นายอนันต์ ชูโชติ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กล่าวว่า ก่อนดำเนินการอนุรักษ์พระราชวังจันทน์นั้น เมื่อ 75 ปีก่อน พ.ศ.2475 กระทรวงศึกษาธิการได้ย้ายโรงเรียนพิษณุโลกมาตั้งอยู่บริเวณวังจันทน์ จากนั้นมีการสร้างอาคารเรียน สนามกีฬา อาคารต่างๆ บนแนวพระราชวังจันทน์ กระทั่งปี 2535 ระหว่างการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม บริเวณสนามบาสเกตบอล ได้ขุดพบแนวก่ออิฐและเศษอิฐจำนวนมาก กรมศิลปากรเข้ามาสำรวจ สามารถกำหนดแผนผังและขอบเขตพระราชวังจันทน์ได้ว่า เป็นกำแพงอิฐ 2 ชั้น ชั้นนอกกว้าง 185.50 เมตร ยาว 270 เมตร ชั้นในกว้าง 147.50 เมตร ยาว 151 เมตร กำแพงทั้ง 2 ชั้นมีความหนา 1 เมตร

        จากนั้นกรมศิลปากรจึงประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถานพระราชวังจันทน์ โดยรวมโบราณสถานใกล้เคียง คือ วัดวิหารทอง วัดศรีสุคต วัดโพธิ์ทอง และสระสองห้อง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 111 ตอนที่ 52 ง วันที่ 30 มิถุนายน 2537 พื้นที่รวม 128 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา


        สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย และกระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดแผนงานในการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์ในเขตประกาศขึ้นทะเบียน 128 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา เริ่มจาก โยกย้ายบ้านเรือนราษฎร และส่วนราชการในเขตโบราณสถานพระราชวังจันทน์ออกไปทั้งหมด ที่มีบ้านเรือนราษฎร 121 หลังคาเรือน ในปี 2552 เจรจาและตกลงช่วยชดเชยค่ารื้อถอนบ้านเรือนราษฎรวงเงิน 10 ล้านบาท จำนวน 53 หลัง และมีงบอีก 5 ล้านบาท ในการจัดภูมิทัศน์ในเขตพระราชวังจันทน์ให้พื้นที่มีความสวยงาม รวมถึงสร้างอาคารศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวชั่วคราว บริเวณทางเข้า เพื่อแสดงข้อมูลให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ถึงความสำคัญและความเป็นมาของ พระราชวังจันทน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น