วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

82.6% หนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น-คนสุโขทัยเชียร์สูงสุด


แม่โจ้โพลล์สำรวจความเห็นคนลุ่มน้ำยม 4 จว. 1,480 ราย พบ 82.6% หนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแก้น้ำท่วม เผยคนสุโขทัยยกมือหนุนมากสุด รองลงมาคือ แพร่ พิษณุโลก และพิจิตร (ตามลำดับ)
      
       ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร “แม่โจ้โพลล์” มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนใน 4 จังหวัดที่แม่น้ำยมไหลผ่าน จำนวน 1,480 ราย (แพร่ร้อยละ 24.8 สุโขทัยร้อยละ 26.8 พิษณุโลกร้อยละ 28.6 และพิจิตร ร้อยละ 19.8) ระหว่างวันที่ 8 ต.ค.-7 พ.ย. 55 ที่ผ่านมา ในเรื่อง “เขื่อนแก่งเสือเต้น กับการแก้ปัญหาน้ำลุ่มน้ำยม”
      
       ทั้งนี้ พบว่า มีประชาชนเห็นด้วยหากจะมีการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 82.6% โดยให้เหตุผลว่าการสร้างเขื่อนจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมในหลาย จังหวัด ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และเมื่อดูผลการสำรวจรายจังหวัดแล้ว จะพบว่าจังหวัดสุโขทัยมีผู้เห็นด้วยมากที่สุด รองลงมาคือจังหวัดแพร่ พิษณุโลก และพิจิตร (ตามลำดับ) มีเพียง 16.3% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าจะทำให้พื้นที่ป่าไม้ที่สำคัญถูกทำลายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ อีก 1.1% ไม่แน่ใจเนื่องจากยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน
      
       ส่วนการได้รับประโยชน์จากการสร้างเขื่อน โดยมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่าภาพรวมประชาชนให้คะแนนการมีประโยชน์ของเขื่อนแก่งเสือเต้นเฉลี่ย 7.01 คะแนน และเมื่อวิเคราะห์แยกเป็นรายจังหวัด พบว่าจังหวัดสุโขทัยให้คะแนนมากที่สุดเฉลี่ย 7.69 คะแนน รองลงมาคือจังหวัดแพร่ 6.85 คะแนน พิษณุโลกเฉลี่ย 6.80 คะแนน และจังหวัดพิจิตรเฉลี่ย 6.61 คะแนน
      
       เมื่อพิจารณาจะพบว่าระดับคะแนนของการได้รับประโยชน์จากการสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้นในรายจังหวัดนี้จะสอดคล้องกับความคิดเห็นในการสร้าง เขื่อนด้วย
      
       เมื่อสอบถามถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนในด้านบวก ประชาชนให้ความเห็นว่า อันดับ 1 คือ 84.6% มองว่าสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้, 79.0% มองว่าใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร, 57.2% มองว่าสามารถนำไปสร้างพลังงานไฟฟ้าในอนาคตได้
      
       ส่วนด้านลบ ผู้ตอบแบบสอบถาม 54.1% มองว่าทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่สำคัญ, 43.4% มองว่าจะกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของประชาชน และ 36.4% มองว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่เกษตร แหล่งประกอบอาชีพของประชาชน
      
       สำหรับข้อเสนอแนะต่อการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำ ยมนั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 69.7% เห็นว่าควรศึกษาวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สร้างเขื่อนหรือฝายขนาดเล็ก ตลอดจนขุดลอกน้ำยมไม่ให้ตื้นเขิน ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน
      
       12.5% เห็นว่าควรช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การปลูกต้นไม้ ดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง, 10.2% เห็นว่าควรมีการศึกษาผลกระทบของการสร้างเขื่อนอย่างรอบคอบทั้งด้านผลดี-ผล เสีย, 7.6% ให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ และโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีแนวทางในการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น