วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หลากลีลารำวงย้อนยุคเมืองพิษณุโลก

 หลากลีลากับ"โคกช้างคอมโบ้"รำวงย้อนยุคเมืองพิษณุโลก

          แม้ว่า วงการเพลงบ้านเราจะยอมรับกลิ่นอายวัฒนธรรมจากต่างประเทศมามากมาย แต่ในอีกมุมหนึ่ง ”รำวงย้อนยุค” แบบไทยประยุกต์ถือเป็นประเพณีนิยมอีกอย่างในช่วงเทศกาลรื่นเริงของไทยอย่าง ไม่เสื่อมคลาย ซึ่งรำวงย้อนยุคในปัจจุบันปรับตัวเข้ากับรสนิยมคนรุ่นใหม่ได้อย่างแนบเนียน

          ทีมข่าวบันเทิง”คมชัดลึก” จะพาไปรู้จักกับวง ”โคกช้างคอมโบ้ “ รำวงย้อนยุคที่กระตุกวิถีไทย แห่ง ต.อรัญญิก จ.พิษณุโลก ร.อ.ช้วน โทตรี หัวหน้าวง”โคกช้างคอมโบ้” เล่าถึงคณะรำวงมาตรฐานที่นำชื่อตำบลในอำเภอเมืองมาตั้งเป็นชื่อวงว่า

          "วง “โคกช้างคอมโบ้" ของเราประกวดครั้งแรกปี2553 ชนะเลิศในการประกวดวงดนตรีย้อนยุคมาหลายงานล่าสุดชนะเลิศการประกวดรำวงย้อน ยุคใน9จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ของสำนักประชาสัมพันธ์เขต4 ถือเป็น วงสมัครเล่นที่รับงานโชว์ทั่วไป หลังจากนั้นมีคนติดต่อเรามาตลอดที่จะให้เราไปแสดงมีงานกฐิน ผ้าป่า งานบวช งานแต่ง ทีนี้ว่าเราไม่พร้อมเรื่องอุปกรณ์ดนตรี อีกอย่างที่ไม่ทำเป็นอาชีพเพราะว่าอายุเรามากแล้ว อยากจะสืบสานและก็หาเด็กรุ่นใหม่มาสืบต่อ ตอนที่เราจัดงานเวลาไปหาวงรำวงมาเล่นราคามันแพงมาก แต่บางทีเรารับมาหมื่นห้าค่าตัวนักดนตรีก็ 8-9 พันแล้ว นักร้องนางรำก็ไม่ได้อะไรเลย อันนี้ถือเป็นอุปสรรค เราไม่พร้อมถ้าจะทำเป็นอาชีพ แต่ถ้าได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในเทศบาลหรือทางจังหวัดก็คงสามารถยึดเป็น อาชีพได้ เพราะอุปกรณ์เครื่องดนตรีต่างๆ ค่อนข้างมีราคาสูง เรารับงานก็ไม่แพงตามบ้านนอกก็ประมาณหมื่นห้า มีนักร้อง3คน นักดนตรี5คน นางรำมีประมาณ 10-30 คน ในวงเราส่วนมากเป็นนักเชียร์รำวง เป็นนางรำเก่า“

          หัวหน้าวงวัย 60 เศษ เล่าขณะดูแลความเรียบร้อยของวงในงานลอยกระทง จัดโดยกรมประชาสัมพันธ์บริเวณซอยอารีสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อถามถึงกระแสการทำรำวงย้อนยุคที่หลายค่ายเพลงนำมาทำเป็นอย่างไรอดีต นักเชียร์รำวงพูดแบบถ่อมตัวว่า
          “วงผมไม่ถึงขั้นนั้น นักร้องเราไม่มี อย่างอ๊อด โฟร์เอส เขาได้หลายรูปแบบ กระแสเพลงรำวงก็ยังดำรงอยู่โดยเฉพาะแถวๆ ภาคเหนือตอนล่าง อย่างที่เขานิยมประกวดวงรำวงย้อนยุค เพราะมันเริ่มหายาก เขาอยากจะรักษาไว้ เพราะมันชี้ให้เห็นถึงความสามัคคีของคนไทย“

          ส่วนคณะรำวงโคกช้างกับวงรำวงอาชีพอื่นๆ ในปัจจุบันมีความแตกต่างกันอย่างไรนั้นร.อ.ช้วนอธิบายเสียงดังฟังชัดตาม สไตล์ทหารว่า
          “ แตกต่างตรง วงอาชีพเขายังจำลองภาพรำวงจริงๆ ไม่ออก พวกผมอายุ60กว่ากันแล้วเคยรำวงมา เมื่อก่อนรำวงต้องมีการขายบัตรจริงๆ มีเพลงไหว้ครู ในแต่ละรอบต้องมีจังหวะต่างๆ การรำต้องมาฝึกฝน แต่รำวงที่เขาทำทุกวันนี้เขาแปลงท่าไปทางแดนซ์กันมาก มาเต้นกัน เหมือนกิ้งกือ มันไม่ใช่ รำวงมันต้องมีเพลงในจังหวะต่างๆอาทิ จังหวะรำวง สามช่า(คาลิปโซ) ม้าย่อง อ็อบบิท ปาทังก้า กัวราช่า(เร็วกว่าปาทังก้า) ตะลุง แซมบ้า(ฝุ่นกระจายมากที่สุด) จังหวะทวิท จังหวะ ช่าช่าช่า "รุมบ้า" เซิ้ง ออฟบิท เลยไม่ใช่ย้อนยุคตัวจริง ถ้ารำวงย้อนยุคจริงๆ ต้องเปิดวงไหว้ครูอย่างที่บอก เล่นกัน 2 ทุ่ม 5 ทุ่มก็เลิกแล้ว เราถึงอยากรักษาตรงนี้ไว้แล้วส่งต่อให้ลูกหลาน เวลาแสดงรำวงเราก็ถ่ายเป็นวีดีโอไว้แต่ไม่ได้ขายเอาไว้ดูแก้จุดบกพร่อง“

          นอกจากนั้นร.อ.ช้วนยังเล่าถึงบรรยากาศรำวงสมัยก่อนให้ฟังว่า
          ”คนจะมากกว่านี้แย่งกันขึ้นมารำ ไปจองนางรำ นางรำมี 15 คน เมื่อก่อนจะมีการเหมารอบ คนนั้นบ้างคนนี้บ้าง ไอ้รอบธรรมดาไม่มีสักที แล้วก็เขม่นกัน ตีกันก็มี (หัวเราะ) การทำรำวงย้อนยุคแบบนี้ที่ยากที่สุด คือนักร้องจะหาที่ร้องได้เหมือนเบญมินทร์ สุรพล สมบัติเจริญ ชาย เมืองสิงห์ นางรำหายากเพราะว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ เขาไม่ค่อยมารำแบบนี้ เขาไปเต้นท่าสมัยใหม่ การแต่งตัวนางรำเดี๋ยวนี้ก็เป็นแดนเซอร์ไปหมดแล้ว โตโยตี้ โชว์สัดส่วน อยากให้คนที่จะมาทำรำวงอาชีพกันมากๆ แต่อยากให้คงเอกลักษณ์จริงๆ ของรำวงไว้“

          หัวหน้ารำวงย้อนยุคแห่งเมืองสองแควยังฝากทิ้งท้ายไว้คือเรื่องเพลงลูกทุ่งที่ขาดความกินใจจนน่าใจหาย
          “เพลงลูกทุ่งทุกวันนี้ต่างไปจากเมื่อก่อนเอามาร้องรำแบบรำวงมันขาดเสน่ห์ไป มาก ทางเพลงไม่เท่าสมัยก่อน การร้อง ภาษาที่ใช้เมื่อก่อนกินใจกว่า เพลงลูกทุ่งสมัยนี้กลิ่นกับความรู้สึกไม่ได้ แต่เรื่องจังหวะยังได้อยู่ อยากให้ทำเพลงแบบเดิมออกมา อย่าคิดว่าทำธุรกิจแล้วคนฟังจะชอบทั้งหมด“

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น