วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชลประทานงดพิษณุโลกผันน้ำยมลงน่าน


ที่ประตูระบายน้ำ DR 2.8 จุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ต.บ้านไร่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล สำนักชลประทานที่ 3 ได้ทำการปิดประตูระบายน้ำ ที่ผันน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน ทั้ง 4บาน หลังจากที่ระดับน้ำในแม่น้ำยมลดลง

โดยระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ที่ไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้ได้ลดต่ำลง จนบางแห่งเห็นหาดทราย โดยเฉพาะแม่น้ำน่านที่ลดระดับลงต่ำมาก บางช่วงเวลาไม่ถึง 1 เมตร ในขณะที่แม่น้ำยม ระดับน้ำเหลือ เพียงครึ่งลำน้ำเท่านั้น

สภาพแม่น้ำน่าน ที่เชื่อมต่อกันคลอง บริเวณประตูระบายน้ำ DR 2.8 ลดต่ำลง จนเห็นโขดหิน เป็นบริเวณกว้าง ส่วนน้ำในคลองที่ลดต่ำ และไหลช้าสภาพน้ำเริ่มมีสีเขียวและมีกลิ่นเหม็น ชาวบ้านหลายรายกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นแม่น้ำน่านอยู่ในระดับต่ำขนาดนี้มาก่อน และเกรงว่า ฤดูแล้งปีนี้จะรุนแรงกว่าที่ผ่านมา

นายสมจิตร โพธิ์ดง อายุ 62 ปี ชาวบ้านรายหนึ่งเปิดเผยว่า ตนเองอยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ 8 ต.บ้านไร่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก และมีอาชีพทำนา โดยมีที่นา 30ไร่ แต่หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวไปเมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ตนเองก็ยังไม่กล้าลงทุนทำนาต่อ เนื่องจากขณะนี้นาข้าวหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ระยะนี้ก็เดินทางจากบ้านมารอดูน้ำ ที่ประตูระบายน้ำ นี้เป็นประจำทุกวัน พร้อมกล่าวยอมรับว่า ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ตนเองและชาวบ้านรายอื่น ๆ ไม่เคยเห็นระดับน้ำในแม่น้ำน่านต่ำขนาดนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลโรงไฟฟ้าพลังน้ำ(กฟผ.) ได้รายงานสภาพน้ำและการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ ว่า มีการลดการระบายน้ำออกจากเขื่อน จากปริมาณวันละ 23.90 ล้าน ลบ.ม. เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เหลือเพียงวันละ 10.73 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณน้ำที่กักเก็บอยู่ในเขื่อน มีเพียง 55 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง ต่างจากปี 2554 เกือบเท่าตัว และน้อยกว่าปี 2553 ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 2554 มีปริมาณน้ำกักเก็บ 99.57 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง และ ในปี 2553 มีปริมาณน้ำกักเก็บ 74.33 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง ซึ่งถึงแม้ว่าทาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ได้ออกประกาศให้เกษตรกรทราบว่า จะมีการปล่อยน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน ในวันที่ 26 ธันวาคม นี้ เป็นเวลา 9 วัน แต่จากปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ทั้งในแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม รวมทั้งข้อมูลน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้เกษตรกรหลายรายไม่มีความมั่นใจว่า น้ำจะเพียงพอกับการทำนาข้าวในครั้งที่จะถึงนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น