วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

6 สถานที่แฝงเชื้อโรคที่คุณคาดไม่ถึง

        รู้ไหมว่า สถานที่ไหนที่มีความเสี่ยงของเชื้อโรคมากที่สุด ลองอ่านเรื่องราวต่อไปนี้ แล้วคุณจะต้องเซอร์ไพรส์ เมื่อรู้ว่า ทั้ง 6 จุดเหล่านี้มีแบคทีเรียจำนวนมากแฝงเร้นอยู่
  

1.ในเครื่องซักผ้า
          ก่อนจะเทผ้าลงในเครื่องซักผ้า ก็ต้องแยกผ้าขาว ผ้าสีออกเสียก่อนใช่มั้ยล่ะ แต่หากจะซักผ้าในครั้งต่อไป ขอให้คัดแยกผ้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหาร เช่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเช็ดมือในห้องครัว ผ้ากันเปื้อน ออกจากพวกชุดชั้นใน และผ้าขนหนูในห้องน้ำด้วยนะ ทำไมนะหรือ?

          "คนส่วนใหญ่มักจะซักผ้ารวม ๆ กันในน้ำเย็น หรือน้ำค่อนข้างอุ่น ซึ่งจะช่วยกำจัดแบคทีเรียไปได้ประมาณ 80% เท่านั้น" ศาสตราจารย์ ชาร์ลีส เจอร์บา แห่งภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเอริโซนา บอก

          น้ำสกปรกที่ถูกล้างออกมาจากการซักผ้ายังสามารถแพร่เชื้อโรคต่อไปได้อีก โดยมันจะเกาะอยู่ตามพื้น และผนังโดยรอบของเครื่องซักผ้า เพื่อรอแพร่เชื้อในการซักครั้งต่อไป

          แก้ไขซะ : คัดแยกเสื้อผ้าที่คิดว่าน่าจะมีเชื้อโรคสะสมอยู่มาก เช่น ผ้ากันเปื้อน ผ้าเช็ดโต๊ะ ผ้าขี้ริ้ว มาซักด้วยน้ำร้อน และใช้ไดร์เป่าให้แห้งซะ ทำอย่างนี้เดือนละครั้ง จะช่วยขจัดสิ่งปนเปื้อนให้ออกไปได้มากกว่าการซักด้วยน้ำธรรมดา หรือโยนลงเครื่องซักผ้า




 2.ในห้องครัว
          อย่าบอกนะว่าในห้องครัวของคุณไม่มี "ฟองน้ำ" เพราะ หลังจากคุณทำอาหารเสร็จแล้วก็ได้เวลาที่คุณจะคว้าฟองน้ำออกมาล้างจาน ตบท้ายด้วยการเช็ดทำความสะอาดตามเคาน์เตอร์ที่ทำอาหาร แต่ขอให้หยุดก่อนค่ะ!!! เพราะสิ่งสกปรกที่คุณใช้ฟองน้ำเช็ดนั่นแหละ มีเชื้อโรคตัวร้ายอย่าง "ซัลโมเนลลา" ซึ่งอยู่ทนเอามาก ๆ เป็นสาเหตุของอาการไม่พึงประสงค์กับระบบทางเดินอาหาร

          "คุณสมบัติของฟองน้ำ ที่มีรูพรุน มีซอกหลืบ แถมยังเปียกชื้น ทำให้ "ฟองน้ำ" กลายเป็น "ซูเปอร์คอนโด" ของเชื้อแบคทีเรีย" เอลิซาเบธ สก็อตต์ ผู้ก่อตั้งศูนย์สุขอนามัยและสุขภาพแห่งครัวเรือนและชุมชน ของวิทยาลัยซิมมอนส์ ในบอสตัน บอก และย้ำด้วยว่า ดีไม่ดีในฟองน้ำยังมีแบคทีเรียซุกซ่อนมากกว่าฝาชักโครกอีกต่างหาก

          เช่นนั้นแล้ว หากคุณใช้ฟองน้ำอันเดิมเช็ดจานชาม หรือทำความสะอาดเคาน์เตอร์ นั่นหมายความว่า คุณอาจจะกำลังแพร่เชื้อโรคในพื้นที่รอบ ๆ ต่อไปอีก

          แก้ไขซะ : อย่านำฟองน้ำล้างจานมาใช้รวมกับฟองน้ำที่ทำความสะอาดเคาน์เตอร์ โดยฟองน้ำล้างจานนั้น เมื่อใช้เสร็จแล้วก็นำไปล้างให้สะอาด (อาจล้างในเครื่องล้างจานก็ได้ ถ้าที่บ้านมี) แล้วนำไปใส่ไว้ในไมโครเวฟ อบด้วยอุณหภูมิสูงสัก 1 นาที

          สำหรับการทำความสะอาดเคาน์เตอร์นั้น พอล ดอว์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านฟู้ดซายน์ แห่งมหาวิทยาลัยเคลมสัน แนะนำว่า ให้ใช้ผ้าขนหนู หรือผลิตภัณฑ์สำหรับเช็ดพื้นผิวอเนกประสงค์โดยเฉพาะมาทำความสะอาดแทนการใช้ ฟองน้ำจะดีกว่า



3.ในซูเปอร์มาร์เก็ต
          สังเกตไหมว่า รถเข็นบางคันที่เราใช้เข็นขณะเดินเลือกซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีที่นั่ง พลาสติกให้เด็ก ๆ เข้าไปนั่งอยู่ในรถ รวมทั้งที่ราวจับรถเข็นก็มีพลาสติกบาง ๆ ห่อหุ้มอยู่ แต่ ดร.เจอร์บา บอกว่า "ในที่นั่งรถเข็นนั่นแหละที่พบเชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อนมากกว่าชักโครกเสียอีก" ซึ่งเชื้อโรคก็มาจากทั้งอาหาร รวมทั้งในตัวเด็ก ๆ ที่เข้าไปนั่งในรถ นั่นเพราะรถเข็นแทบจะไม่เคยได้รับการทำความสะอาดเลย

          แล้วไม่ใช่แค่รถเข็นนะ เพราะเวลาที่เราไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ ตรงหน้าจอของเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งจุดที่รูดบัตรเครดิตจ่ายเงินก็พบเชื้ออี.โคไล ปนเปื้อนอยู่เช่นกัน ซึ่งเชื้อเหล่านี้ก็มาจากการที่พนักงานหยิบจับอาหาร โดยเฉพาะพวกเนื้อสัตว์ แล้วมากดหน้าจอเพื่อคิดเงินนั่นแหละ

          ยังไม่หมดค่ะ เพราะสำหรับคนที่ถือถุงผ้าไปช้อปปิ้ง ถุงผ้าของคุณก็เป็นจุดที่เต็มไปด้วยแบคทีเรียเช่นกัน ซึ่งหากก่อนหน้านั้น คุณนำถุงผ้าใบเดียวกันนี้ไปใส่อาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ หรืออาหารสดที่บรรจุเป็นแพคไว้ แล้วไม่ได้นำกลับมาซัก มีหรือที่เชื้อโรคจะไม่ติดอยู่ที่ถุงผ้าด้วย

          "ผลการสำรวจบอกว่า มีคนแค่ 3% เท่านั้น ที่เคยซักถุงผ้าของตัวเอง และคนกว่าครึ่ง ใช้ถุงผ้าบรรจุของหลายอย่าง ทั้งที่ไม่ได้ซัก" ดร.เจอร์บา บอกและย้ำว่า "มันก็เหมือนกับคุณกำลังนำอาหารที่ซื้อมาเหล่านั้นใส่ลงในกางเกงในที่สกปรกแล้วถือกลับมานั่นแหละ"

          แก้ไขซะ : เช็ดทำความสะอาดที่จับรถเข็น รวมทั้งที่นั่งเด็กในรถเข็นด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ต ก่อนจะเข็นรถไปช้อปปิ้งได้อย่างสบายใจ อ้อ...และหลังเดินออกจากซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว อย่าลืมล้างมือด้วยเจลล้างมือ เพื่อทำความสะอาด และเมื่อกลับบ้านอย่าลืมนำถุงผ้าที่ใช้แล้วซักทำความสะอาดให้เรียบร้อยด้วย ล่ะ

          ถึงตอนนี้คุณอาจสงสัยว่า แล้ว "เงิน" ที่ใช้จ่ายกันในซูเปอร์มาร์เก็ตล่ะ ไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโรคหรือ? ดร.เจอร์บา บอกว่า แม้ว่าเงินจะผ่านมาหลายต่อหลายมือแล้วก็ตาม แต่โอกาสที่คุณจะได้รับเชื้อโรคนั้นมีน้อย อย่างเช่นในธนบัตร เชื้อโรคจะติดในรูพรุนของเส้นไฟเบอร์ที่ผลิตมาเป็นธนบัตร และไม่ส่งผ่านมายังมือของคุณได้ง่ายนัก นอกจากนี้ เหรียญที่ทำจากนิกเกิล และทองแดง ยังมีคุณสมบัติต้านทานต่อเชื้อโรคอีก จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ต่ำ


 4.ในห้องน้ำ
          ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการติดเชื้อ มหาวิทยาลัย ศูนย์การแพทย์พิตส์เบิร์ก บอกว่า ต้องล้างมือให้นานเท่า ๆ กับการร้องเพลง "แฮปปี้เบิร์ดเดย์" มือของเราจึงจะสะอาด ปลอดเชื้อโรคได้จริง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ต้องระวังคือ "ก๊อกน้ำ" ก็ไม่ใช่จุดที่ปลอดเชื้อ

          เพราะการที่มือสัมผัสก๊อกน้ำบ่อย ๆ ทำให้ก๊อกน้ำเป็นจุดที่เปียกชื้น ซึ่งทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี โดยจากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า สถานที่เปียกชื้นอย่างเช่นที่ก๊อกน้ำในบ้าน เป็นจุดที่ซูเปอร์แบคทีเรียอย่าง MRSA ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการผิวหนังติดเชื้ออาศัยอยู่

          นอกจากก๊อกน้ำแล้ว ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดหน้าในห้องน้ำ ก็เป็นจุดที่แบคทีเรีย อี.โคไล เจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน โดยได้รับเชื้อโรคจากมือของเรา และจากละอองน้ำในยามที่เรากดชักโครก

          แก้ไขซะ : ก่อนจะกดชักโครกทุกครั้ง ควรปิดฝานั่งชักโครกเสียก่อน เพื่อไม่ให้ละอองน้ำสกปรกกระจายสู่อากาศ นอกจากนี้ ยังควรฆ่าเชื้อโรคก๊อกน้ำทุกวัน ส่วนผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้านั้น ก็ควรเปลี่ยนบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ ส่วนผ้าเช็ดเท้าก็ควรเปลี่ยนทุก ๆ สามวัน

          แล้วแปรงสีฟันล่ะ เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคหรือเปล่า? "แน่นอน ในแปรงสีฟันเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย แต่โอกาสที่จะแพร่สู่คนอื่นมีน้อยมาก เพราะต่างคนต่างใช้แปรงสีฟันของตัวเอง โดยมีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่บอกว่า เชื้อโรคบนแปรงสีฟันสามารถทำให้คุณป่วยได้" ดร.อบิเกล ซาลเยอร์ แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ บอก แต่ถึงกระนั้น เก็บแปรงสีฟันในที่ที่แห้งตลอดเวลาจะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้เช่นกัน

          Tip : เมื่อคุณใช้ห้องน้ำสาธารณะ ให้เลือกเข้าห้องที่อยู่ด้านในสุด เพราะเป็นห้องที่คนเข้าน้อยกว่าห้องกลาง ๆ จึงเสี่ยงต่อเชื้อโรคได้น้อยกว่า





5.ใต้กระเป๋า และเป้
          เมื่อคุณกลับถึงบ้านและวางกระเป๋าบนพื้น หรือโยนบนเตียง คุณเคยย้อนกลับไปคิดไหมว่า ระหว่างวันนั้น คุณได้วางกระเป๋าไว้ที่ไหนบ้าง ในรถเข็นร้านขายของ บนโต๊ะอาหาร หรือบนพื้น?

          งานนี้ต้องระวังให้ดี เพราะงานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า แบคทีเรียจำพวก อี.โคไล นั้น ติดอยู่ใต้กระเป๋ามากถึง 18% ดังนั้นแล้ว เราจึงไม่ควรวางกระเป๋าบนพื้นเด็ดขาด รวมทั้งไม่ควรวางกระเป๋าไว้บนพื้นที่ที่คุณจะนำอาหารมานั่งรับประทานด้วย เช่นกัน
 

 6.รีโมตทีวี

          แน่นอน ทุก ๆ คน ต้องสัมผัสรีโมตทีวีเพื่อเปลี่ยนช่อง และคงมีน้อยคนนักที่จะทำความสะอาดมันเป็นประจำ ดังนั้นแล้ว เพื่อไม่ให้รีโมตกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคอันร้ายกาจ อย่าลืมใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช็ดทำความสะอาดรีโมตเป็นประจำเสียด้วย

          เห็นไหมว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่เป็นจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หลายคนไม่เคยคำนึงถึงมาก่อนเลย ถ้าใครพลาดไปแล้ว ก็ยังมีเวลาเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพดีที่รอคุณอยู่นะคะ


ที่มา :  http://guru.thaibizcenter.com

Create your own banner at mybannermaker.com!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น