วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

ฤกษ์ล้มรัฐบาลปู ชัวร์หรือมั่วนิ่ม


รัฐบาลประกาศปฏิทินการเมืองต่อเนื่อง

หลังสภาผู้แทนฯ ผ่านร่างพ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท

หรือที่เรียกกันว่าพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน

จะเป็นคิวแถลงผลงานรัฐบาล วันที่ 24 ก.ย.ซึ่งอาจยืดเยื้อถึง 25 ก.ย.

จากนั้น 28 ก.ย. เป็นการประชุมรัฐสภาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของส.ว. ในวาระ 3 ตาม ข้อเสนอวิปรัฐบาล

โดยไม่สนใจกรณีฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การแก้ไข ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ทั้งยังขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอลงมติวาระ 3 ไปจนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย

เนื่องจากรัฐบาลเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ กระทำได้โดยปราศจาก การก้าวก่ายจากอำนาจตุลาการ หรือ อำนาจอื่นๆ

ซึ่งต้องดูว่าปฏิบัติการดับเครื่องชนอำนาจตุลาการครั้งนี้จะส่งผลให้การเมืองหักเหไปในทิศทางใด

หากว่าไปแล้วร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านก็น่าจะมีชะตากรรมไม่ต่างไปจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากการอภิปรายที่ผ่านมาฝ่ายค้านวางกรอบมุ่งไปยัง 4 ส่วน คือ

เรื่องวินัยการเงินการคลัง ความไม่เหมาะสมและความไม่พร้อมของโครงการ ความไม่ชอบมาพากลและกรอบกฎหมายที่การกู้เงินนี้เป็นเงินของแผ่นดินที่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.เกี่ยวกับงบประมาณ 4 ฉบับ

จุดที่ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านส่อแววว่าจะมีชะตากรรมไม่ผิดเพี้ยนจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพราะฝ่ายค้านได้อภิปรายอ้างความเห็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ชี้ประเด็นว่าการออกกฎหมายกู้เงินฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ว่าด้วยการจ่ายเงินแผ่นดิน

นำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน 



มีการตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมฝ่ายค้านในการอภิปรายร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านว่า แตกต่างลิบลับกับการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว. ที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน

นั่นเป็นเพราะฝ่ายค้านจริงจังกับการอภิปรายครั้งนี้มากกว่า จึงต้องลดระดับเกมประท้วงตีรวนต่างๆ ลงเพื่อป้องกันไม่ให้ส.ส.รัฐบาลอาศัยเป็นเหตุชิงเสนอปิดอภิปราย

เพราะจะทำให้ฝ่ายค้านเสียโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงบทบาทในร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เหมือนอย่างที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนพยายามออกตัวว่า

รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่เป็นโครงการที่ผ่านอนุมัติจากรัฐบาลชุดก่อนแทบทั้งสิ้น

การคัดค้านจึงไม่ได้คัดค้านตัวโครงการ แต่คัดค้านในเรื่องการออกกฎหมายนอกวิธีงบประมาณปกติ

ถึงฝ่ายค้านจะแบไต๋ชัดเจนว่าต้องการให้เรื่องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

แต่รัฐบาลก็มั่นใจเช่นเดียวกันว่าการผลักดันพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านที่ได้ผ่านการหารือกับกฤษฎีกา และเป็นไปตามกระบวนการออกกฎหมายทุกประการ

ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนที่ออกพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านในโครงการไทยเข้มแข็ง

ความมั่นใจของรัฐบาลยังสะท้อนผ่านน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ที่ได้นัดหารือตัวแทนสมาคมธนาคารไทยก่อนหน้าประชุมสภา 1 วัน

ผลปรากฏตัวแทนธนาคารส่วนใหญ่มีความเห็นสนับสนุนกฎหมายกู้เงินดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการลงทุนและสร้างรายได้ให้ประชาชน

ยังไม่นับว่าโครงการพัฒนาระบบรางทั้งแบบความเร็วสูงและแบบรางคู่ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงบริบทสังคมเมืองขนาดใหญ่ นำพาประเทศไทยเข้าสู่ความทันสมัย ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ทั้งโลก



รัฐบาลเตรียมจัด ′คิกออฟ′ กิจกรรมโรดโชว์โครงการ 2 ล้านล้าน วันที่ 26 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนสัญจรไปยัง 12 จังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง

กระนั้นก็ตามประเด็นพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ยังต้องรอดูกันต่อไปว่าระหว่างเกมเตะสกัดของฝ่ายค้านผ่านการยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ

กับเกมฝ่ายรัฐบาลที่เชื่อมโยงเอานักเศรษฐ ศาสตร์ นักธุรกิจ นักการเงินการธนาคาร นักวิชาการและประชาชนที่อยากเห็นประเทศชาติเจริญก้าวหน้าเข้ามาเป็นแรงหนุน

สุดท้ายแล้วผลตัดสินจะออกมาทางใด

ตลอดช่วง 2 ปีเต็ม รัฐบาลชุดนี้ได้รับแรงเสียดทานหนักจากฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าฝ่ายค้าน องค์กรอิสระและมวลชนต่อต้านนอกสภา จนทำให้ไม่สามารถเดินหน้านโยบายสำคัญใดๆ ได้

ล่าสุดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังออกมาปูดถึงแผนล้มรัฐบาลวันที่ 8 ต.ค.

"ผมรู้ว่ามันคือวันอะไร ถือฤกษ์ ถือยามอะไร มันตลก ผมว่ามันไม่อยู่ในกติกา"



ก่อนสังคมจะมึนงงไปกว่านี้ ปรากฏว่านายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยและแกนนำนปช. ได้ออกมาอธิบายขยายความว่า

เป็นความเชื่อของกลุ่มที่ต้องการ ล้มรัฐบาล ไปหาหมอดู บอกว่าวันที่ 8-9 ต.ค. เป็นช่วงดวงรัฐบาลกำลังตก ดวงอ่อนที่สุด

เมื่อเป็นดังนี้ แผนโค่นรัฐบาลจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อรองรับคำทำนาย

แผนแรกคือ ให้ป.ป.ช.ลงดาบเรื่องจำนำข้าว ควบคู่กับการปลุกปั่นม็อบสวนยาง ยั่วยุให้เกิดการปะทะล้มตาย เพื่อสร้างเงื่อนไขกล่าวหารัฐบาลสั่งฆ่าประชาชน

แล้วนัดชุมนุมใหญ่ขับไล่



แผนสองเชื่อมโยงกับแผนแรก เมื่อชาวนาและคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมต่อต้านป.ป.ช. อีกฝ่ายหนึ่งก็จะปลุกคนของตนเองออกมาปะทะ

เพื่อสร้างเงื่อนไขให้ทหารเข้ามาแทรกแซง

หากล้มรัฐบาลได้ก็จะลากไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทยรอบ 3 โดยยกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านยื่นคาไว้มาเป็นเหตุ

จากนี้ไปถึงวันที่ 8 ต.ค. เป็นช่วงที่สังคมต้องจับตาสถานการณ์ทางการเมืองว่าจะมีสิ่งใดนำไปสู่ความพลิกผันตามฤกษ์ยามดังกล่าวหรือไม่

จะชัวร์หรือแค่มั่วนิ่ม





ถึงแม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะยืนยันตรงกันว่าขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดทำให้ต้องยุบสภา

แต่การเมืองไทยความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

ถึงที่สุดถ้าหากรัฐบาลโดนฝ่ายตรงข้ามลุยป่วนจนเดินหน้าทำงานต่อไปไม่ได้

ทุกอย่างไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โครงการ 2 ล้านล้าน หรือโครงการรับจำนำข้าว ต้องฝากโชคชะตาไว้กับองค์กรอิสระ

การยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินแทนองค์กรอิสระ

จึงเป็นทางออกหนึ่งตามวิถีประชาธิปไตยที่ประชาชนยอมรับได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น