วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร


     วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดใหญ่ หรือวัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช  เป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่ครั้งที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร
ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญยิ่งทั้งในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีค่ะ
         วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ถือเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก เพราะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองและชาวไทยทั้งประเทศ  วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออกตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลกครับ  ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวเอาไว้ว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารไว้ว่า " เป็นวัดใหญ่และเป็นวัดที่สำคัญกว่าวัดอื่นในเมืองพิษณุโลก มีพระมหาธาตุอยู่กลางเห็นจะสร้างตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี หากแต่ซ่อมแซมมาหลายครั้งหลายสมัย"
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้น แต่ในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า  “ในราวพุทธศักราช 1900 พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร 4 ทิศ มีพระระเบียง 2 ชั้น และทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง 3 หลัง”
นอกจากนี้ ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุล้ำค่าอีกมากมาย ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “นมัสการพระพุทธชินราชแล้ว ดูธรรมมาสน์เทศน์ ธรรมาสน์สวด   ดูเรือนแก้ว แลสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ ล้วนเป็นของดีอย่างเอก ไม่เคยพบไม่เคยเห็น”
ทางเข้าพระวิหารด้านหน้า มีบานประตูขนาดใหญ่ประดับมุกสวยงาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลายในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ  ตรงกลางประตูมีสันอกเลาประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ( หรือเรียกว่าลายดอกบัวตูม ) สองข้างเป็นลายกนกก้านแย่ง ช่วงกลางอกเลามีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียกว่า นมอกเลา เป็นรูปบุษบก มีรูปพระอุณาโลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ประดิษฐานบนบัลลังก์อยู่ใน บุษบก สองข้างเป็นรูปชุมสายซึ่งเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เป็นรูปฉัตรสามชั้น ใต้ฐานบุษบกมีหนุมานแบกฐานไว้ ส่วนเชิงล่างของอกเลาทำเป็นรูปกุมภัณฑ์ยืนถือกระบองท่าสำแดงฤทธิ์ ส่วนลวดลายบานประตูเป็นลายกนกที่มีภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช ครุฑ กินรีรำ และภาพสัตว์อื่น ๆ และยังมีลาย อีแปะ ด้านละ 9 วงมัดนกหูช้างประกอบช่องไฟระหว่างวงกลม หรือวงกลมเป็นลายกรุยเชิง มีลายประจำยามก้ามปูประดับขอบรอบบานประตู หลังจากที่หมูหินยืนมองอยู่นานก็เริ่มรู้สึกว่าขนลุก
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร มีพระประธานองค์ใหญ่ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะ งดงามที่สุดในประเทศไทย นั่นก็คือ “พระพุทธชินราช”  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี  ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาค่ะ
          บริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราช มีพระอัฏฐารศ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราชประมาณ พ.ศ. 1800 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่ แต่วิหารได้พังจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า เนินวิหารเก้าห้อง
ด้านหลังพระอัฏฐารศ เป็นพระปรางค์ประธาน สร้างตามแบบสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ( ดอกบัวตูม ) ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา 

          นอกจากนี้ยังมี พระเหลือ ซึ่งพระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชิน ราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมางวิชัยขนาดเล็ก และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองก็ได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นบนชุกชี จึงเป็นที่มาของชื่อ โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ก็ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นหลังหนึ่ง แล้วอันเชิญพระเหลือกับพระสาวกมาประดิษฐานในวิหารน้อยนี้ แล้วให้ชื่อว่า วิหารพระเหลือ 
         วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิหารแกลบ หรือวิหารหลวงสามพี่น้อง เป็นโบราณวัตถุสมัยอยุธยา นับว่าเป็นชิ้นสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาวรวิหาร ถือว่าเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า คาดว่ามีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพ ทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตราการ ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดร่องกระจกสวยงาม ที่ปลายหีบมีพระบาททั้งสองยื่นออกมา และบริเวณด้านหน้า หรือด้านท้าย หีบพระบรมศพ มีพระมหากัสสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพ
ขอแนะนำให้หาโอกาสพิเศษไปกราบสักการะพระพุทธชินราชและชมความ วิจิตรงดงามของโบราณสถาน โบราณวัตถุที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารด้วยตัวเองนะคะ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30 – 18.00 น.
ส่วนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันพุธ – อาทิตย์  เท่านั้น เวลา 09.00 – 16.00 น.  สำหรับวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดค่ะ
นอกจากการ เที่ยวชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแล้ว เพื่อน ๆ ยังสามารถเดินไปชมวัดนางพญาและวัดราชบูรณะ ที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ ได้ ซึ่งวัดทั้งสองแห่งก็ถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญละมีประวัติศาสตร์ที่ยาว นาน
ถ้าเพื่อน ๆ ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถโทรไปสอบถามได้ค่ะที่เบอร์ 055 – 259414 , 055 – 259430 ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น