วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"นิธิ" สอนมวย ! ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มุ่งเน้นความร่วมมือไม่ใช่แข่งขัน

วันนี้ (18 มิถุนายน 2555) เวลา 9.30 น. ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถา “แผ่นดินเดียวกันแต่เหมือนอยู่คนละโลก?: การปฏิรูปประเทศไทยเพื่อการอยู่ร่วมโลกเดียวกันกับคนอื่น จินตนาการสู่อนาคต” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ประเด็นหนึ่งคือการกล่าวถึงการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ต้องเน้นความร่วมมือไม่ใช่แข่งขัน การสร้างความสัมพันธ์กับโลกข้างนอกต้องมองในหลายมิติและมองอย่างสร้างสรรค์

“คนไทยโดยเฉพาะคนที่มีการศึกษา มักมองโลกข้างนอกไปในเชิงการแข่งขัน ช่วงนี้เวลาพูดถึงเออีซีคนมักนึกว่าเราจะแข่งขันกับพม่า เวียดนาม มาเลเซีย หรือประเทศอื่น ๆ ได้อย่างไร ภายใต้ชุมชนเศรษฐกิจร่วมกัน ผมเข้าใจว่าเออีซีเกิดขึ้นเพื่อให้เราร่วมมือกันเพื่อเป็นตลาดที่ใหญ่พอหรือมีเสน่ห์พอให้คนอื่นมาลงทุน แต่เรามักกลับมองในลักษณะที่ว่าเราพร้อมที่จะแข่งกับคนอื่นแล้วหรือยัง” ศ.ดร.นิธิ กล่าว



ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่ามีวิธีอื่น ๆ ที่จะปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกับเราอีกหลายอย่าง นอกจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจ


ปัญหาพื้นฐานในสังคมไทยมาจากความสัมพันธ์ 3 ลักษณะ ได้แก่ รัฐ ทุน และสังคม จัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่สมดุล เหตุผลสำคัญเกิดจากการเข้าถึงทรัพยากรไม่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียมโดยเฉพาะจากอำนาจรัฐและทุนจนทำให้สังคมไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ สาเหตุความเหลื่อมล้ำก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างและความอยุติธรรมตามมาซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ได้ยาก ขณะที่ไทยมักแก้ปัญหาในเชิงเดี่ยวเสมอ ส่งผลไม่สามารถแก้ที่ต้นเหตุหรือโครงสร้างของปัญหาทั้งหมด

“เห็นได้จากกรณีคำพิพากษาที่ปรับชาวสวนชาวไร่ที่ทำให้โลกร้อน ท่ามกลางรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันพิษอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำธรรมดาแต่เป็นการรังแกคนที่ไร้อำนาจที่สุด รวมถึงตัวเลขของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากงานวิจัยช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เช่น ถ้าแบ่งประชากรไทยออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ ที่รวยสุดมีทรัพย์สินครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 69 ส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ ต่ำสุดคือเป็นร้อยละ 1 หรือแม้แต่งบประมาณการศึกษาของรัฐ คน 20 เปอร์เซ็นต์ ข้างบนมีโอกาสใช้มากกว่าร้อยละ 10 ในขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์ข้างล่างมีโอกาสใช้ได้น้อยกว่าร้อยละ 10”


ทั้งนี้ ศ.ดร.นิธิ ย้ำว่า ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ทำให้คนไม่สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่ ส่งผลต่อประเทศ การแก้ปัญหาคือการทำให้เกิดอำนาจต่อรองระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ หัวใจสำคัญคือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจไม่ให้กระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำ ลดการรวมศูนย์อำนาจทั้งในเชิงการบริหารจัดการให้ลงไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งในเรื่องภาษี ที่ดิน การศึกษา ศาสนา ถ้าเริ่มต้นปรับโครงสร้างอำนาจก่อน เชื่อว่าการปฏิรูปของประชาชนในด้านอื่น ๆ จะตามมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น