วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ตีแสกหน้าจำนำข้าว รบ.ปู อุ้มแขมร์-ช่วยโรงสี ตื้บชาวนาไทยจมกอง “ดอกเบี้ย”


      ชาวนาสองแควบ่นตรึม! จำนำข้าวดีแค่ภาพราคาสูงถึงหมื่นห้า ขายจริงได้แค่หมื่น แถมกว่าจะได้เงิน ต้องรอ 2-3 เดือน พอได้มาต้องจ่ายหนี้พร้อมดอกเบี้ยเกลี้ยง หมดเงินทำนารอบใหม่ เชื่อประกันราคาข้าวได้เงิน 2 ก้อนพอมีเงินเก็บ โวยรัฐบาลเอาใจโรงสี-อุ้มเขมร ชาวนาไทยแย่
      
       ท่ามกลางเสียงพร่ำเตือนเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวจากนักวิชาการ และคนในแวดวงค้าข้าวทั้งในและต่างประเทศถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ “ข้าวไทย”ในอนาคต แต่รัฐบาลปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังคงเดินหน้าเปิดรับจำนำข้าว มัดใจรากหญ้าชาวนาหวังใช้เป็นฐานเสียงครองอำนาจให้ยาวนานที่สุด
      
       ซึ่งจากการสอบถามชาวนา แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่านโยบาย “จำนำข้าว” ดี/ด้อยอย่างไร พวกเขามองเพียงว่าให้ขายข้าวได้ราคาสูงๆ โดยไม่สนใจว่าเม็ดเงินที่นำมา “รับซื้อ” ภายใต้นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล “ปู” จะเป็นเงินภาษี-เงินกู้ ที่จะกลายเป็นภาระของลูกหลานก็ตาม แต่ชาวนาส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่านโยบายประชานิยมจำนำข้าวนี้ไม่ได้ดีเหมือนดั่ง คำโฆษณา
      
       นายละหมื่น เมฆยิ้ม ชาวนาหมู่ 2 ต.บึงพระ อ.เมืองพิษณุโลก บอกว่า ตน มีอาชีพทำนา ปีนี้น้ำไม่ท่วมได้ผลผลิตดีสามารถขายข้าวให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำ ข้าวราคาตันละ 11,200-11,700 บาทก็จริง แต่ปัญหาก็คือต้องรอไปอีก 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อยกว่าเงินจะถึงมือชาวนา
      
       ถามว่าสถานการณ์อย่างนี้ ชาวนาไทยทำนาตลอดทั้งปีจะเอาเงินที่ไหนไปทำทุนต่อ แต่ละปีทำนา 3 ครั้ง ครั้งละ 3-4 เดือน ครบวงรอบปีพอดี พอมีเวลาพักบ้างแค่ประมาณ 20 วันก็ต้องลงทุนใหม่ หาปุ๋ย หาพันธุ์ข้าว ดังนั้น ถ้าขายข้าวตามโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลแล้วอีก 2-3 เดือนกว่าจะได้เงินมา ชาวนาต้องเสียค่าดอกเบี้ย
      
       “พอ ธ.ก.ส.โอนเงินจากการขายข้าวมาให้ เงินก็หมดพอดี”
      
       แต่ถ้าเทียบกับโครงการรับประกันราคาข้าวนั้นดีกว่า คือขายข้าวได้เงินสดทันที เอามาใช้จ่ายหมุนเวียน อาทิ ค่ารถเกี่ยว ฯลฯ ส่วนเงินที่รัฐอุดหนุน “ส่วนต่าง” ภายหลัง กลายเป็นเงินเก็บ
      
       ส่วนคำถามที่ว่า ชาวนามีโควตาเหลือปริมาณข้าวเปลือกเหลือไปขายต่อโรงสีเพื่อหวังทุจริตนั้น ยืนยันไม่มี เพราะรัฐกำหนดผลผลิต 60-70 ถังต่อไร่ แต่ชาวนาที่บึงพระ หรือในเขตชลประทานได้ผลผลิตเกินระดับ 90 ถังต่อไร่ ดังนั้นจึงไม่มีโควตาเอาใบประทวนไปทุจริตหรือสวมสิทธิร่วมกับโรงสี มีแต่ทำนาได้ข้าวเกินโควตา นำข้าวเปลือกที่เหลือขายโรงสีถูกกดราคาต่ำๆ มากกว่า
      
       เช่นเดียวกับนายสมพร มาอากาศ ชาวนาไทย ม.2 ต.บึงพระ อ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า ปีนี้เขาต้องขายข้าวสดๆ จำนวน 4 เกวียนจากที่ทำนาประมาณ 6 ไร่ ในราคาต่ำเพียง 8,500 บาทต่อเกวียน ยกทิ้งโครงการจำนำเพราะรอเงินไม่ไหว จำต้องขายข้าวสดๆ เอาเงินมาไว้ก่อน เพราะบังเอิญว่าลูกคนหนึ่งเรียน ม.นเรศวรต้องใช้เงิน 2 หมื่นบาท และลูกอีกคนเรียน ม.ราชภัฏพิบูลสงครามใช้เงินอีก 1 หมื่นบาท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทิ้งโครงการรับจำนำข้าว
      
       อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังมีพื้นที่ทำนาข้าวอีก 16 ไร่ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำ ขายข้าวกับโรงสีที่เข้าร่วมรัฐบาลโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 55 กว่าจะได้รับเงินตกวันที่ 2 ต.ค. 55
      
       “ถ้าผมไม่แบ่งขายข้าวเงินสดก็ต้องเจอดอกเบี้ยแพงแน่ ร้อยละ 10 สลึงต่อเดือน หรือ 2.5 บาทต่อเดือน”
      
       ถามว่าประกันดีกว่าไหม นายสมพรบอกว่าดีกว่าแน่ ได้เงินสดทันทีเมื่อขายข้าว แถมยังได้เงินส่วนต่างโอนเข้าบัญชีตามมาเป็นเงินสด เรียกว่ามีเงินก้อน 2 ครั้ง พอมีเงินทุนหมุนเวียนทำนาต่อทันที ส่วนโครงการจำนำข้าวดีแค่ราคาสูง 15,000 บาท แต่ขายไม่ได้จริง ได้แค่หมื่นเศษๆ แถมกว่าจะได้เงินก็ช้า 2-3 เดือน
      
       นางสกลสุภา โพดง อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 23/3 ม.1 ต.วังน้ำคู้ อ.เมืองพิษณุโลก กล่าวว่า แต่ละปีรัฐบาลได้สิทธิเข้าร่วมโครงการจำนำข้าวได้ 2 ครั้ง รอบที่ผ่านมาตนไม่เข้าร่วมโครงการเพราะเกรงว่าน้ำจะท่วม ไม่ได้ข้าว ตนจึงไม่ขอใบรับรองเกษตรกร ยอมรับคาดการณ์ผิดน้ำไม่ท่วม ทำนาได้ข้าวประมาณ 20 เกวียน ทำให้ต้องขายข้าวไปเกวียนละ 7,000-7,200 บาท ถือว่าต่ำมาก ทำให้รอบนี้ตนต้องเข้าร่วมโครงการจำนำข้าว
      
       นายโกมล ขำน้ำคู้ ชาวนาที่ ม.1 ต.วังน้ำคู้ อ.เมือง จ.พิษณุโลก บอกว่า โครงการจำนำข้าวไม่ไหว เงินช้า ตนขายข้าวไปเมื่อ 1 ก.ค. 55 กว่าจะได้เงินก็ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา พอได้เงินมาก็นำไปจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา สารพัด แถมจ่ายดอกเบี้ยอีก
      
       “เงินได้มาก็ใช้หนี้หมดพอดี ไม่มีเงินเหลือ”
      
       เมื่อเทียบกับประกันราคาข้าวยังพอมีเงินเหลือเก็บ โครงการรับจำนำของรัฐบาลชุดนี้ ช่วยโรงสี เอาใจพ่อค้าคนกลาง ชาวนาแย่
      
       นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดนี้เวียนเทียนหากินกับโครงการรับจำนำข้าว คำว่าสวมสิทธิรับจำนำข้าวของเกษตรกร ที่ทุจริตกันเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น คำว่าสวมสิทธิรับจำนำข้าวคือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลใช้เอกสารรับจำนำ ข้าวสาร (แปลงสภาพแล้ว) คำนวณย้อนกลับเป็นปริมาณข้าวเปลือกเพื่อกว้านซื้อข้าวที่ฝากไว้กับโกดังยัง โรงสีต่างๆ โดยแหล่งใหญ่สวมสิทธิคือองค์การคลังสินค้า และข้าวที่ทะลักมาจากชายแดนไทย-กัมพูชาเป็นส่วนใหญ่
      
       “เท่ากับว่ารัฐบาลชุดนี้อุ้มโรงสี และอุ้มชาวนากัมพูชา”
      
       เขาบอกว่า หลักฐานระบุชัดเจนจากหนังสือพิมพ์ประเทศเวียดนาม ออนไลน์ในเว็บไซต์ (www.oryza.com) ซึ่งประธานสมาคมอาหารเวียดนามวอนให้เกษตรกรชาวเวียดนามหยุดการส่งออกข้าวไป ยังกัมพูชา เพื่อส่งไปขายยังชายแดนประเทศไทย เนื่องจากข้าวที่เวียดนามขาดแคลน
      
       โครงการรับจำนำข้าวปี 54/55 รัฐบาลใช้เงินไป 330,000 ล้านบาท ในปีแรกเสียค่าบริหารจัดการ อาทิ เช่าโกดัง 40,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการรับจำนำข้าว 55/56 (รอบ 2) รัฐบาลตั้งไว้ 405,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 240,000 ล้านบาท ส่งผลให้ ชาวนาไทยต้องรีบทำนา
      
       ลักษณะใครทำก่อนได้เงินก่อน เพราะอีกไม่นานก็เชื่อว่ารัฐบาลอุ้มเช่นนี้ไปไม่รอด เพราะรัฐมนตรีพาณิชย์แจงว่าขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไป 42,000 ล้านบาท หากเทียบรายรับกับรายจ่ายแล้วก็ไปไม่รอด และถ้าขายได้จริงโดยไม่มีการประมูลข้าวกับต่างประเทศ ก็ถือว่ารัฐบาลได้เงิน 4 หมื่นล้านบาทแบบเถื่อนๆ
      
       ส่วนกลโกงรับจำนำข้าว พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าตรวจสอบความฉ้อฉลทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งทราบว่าคนใกล้ชิดรัฐบาลเวียนเทียนเอกสารสวมสิทธิรับจำนำข้าวจากโกดัง ของรัฐโดยไม่ต้องมีข้าวเปลือก โยกแค่ตัวเลขในเอกสาร
      
       “นอกเหนือจากเงินใต้โต๊ะระบายข้าวไปยังต่างประเทศแล้ว เท่าที่ทราบมีการเร่ขายใบประทวนด้วย จากที่รัฐบาลมีข้าวที่สีแล้วอยู่ในมือตันละ 23,000 บาทในโกดัง จากนั้นค่อยมาหาใบประทวนนำมาทอนเป็นข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำตาม โรงสีต่างๆ หรืออีกวิธีก็คือ นำข้าวเปลือกจากต่างประเทศ (เขมร) มาสวมสิทธิโครงการรับจำนำทันที เพียงแค่อาศัยโควตาข้าวสีที่แปรสภาพแล้วจากโกดังองค์การคลังสินค้า"
      
       นพ.วรงค์ระบุอีกว่า โครงการจำนำข้าวรัฐจ่ายเงิน 14,800-15,000 บาทต่อเกวียน แต่ชาวนากลับได้เงินเพียง 11,000 บาท แล้วเงิน 4 พันบาทไปไหน หากเทียบกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา กรณีประกันราคาข้าว 12,000 บาท ชาวนาไทยขายข้าวได้เงินสดเกวียนละ 8,000 บาททันที และรัฐบาลยังจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือ 4 พันบาทแก่ชาวนาอีกครั้ง
      
       “ถามว่าโครงการไหนดีกว่ากัน โครงการไหนเงินถึงมือเกษตรกรไทย” หมอวรงค์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น