วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ยินดีต้อนรับสู่ถิ่นกาขาว ชาว AEC

เมื่อเข้าสู่ปี 2558 หรือ 2015  เป็นต้นไป ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเราจะได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว เป็นฐานการผลิืตสินค้าและบริการร่วมกัน ทำการค้าและเศรษฐกิจภายใต้กฎกติกาเดียวกัน ภายใต้ชื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ชาวโลกก็จะเห็นคนไทย คนพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดฯ สิงคโปร์ มาเลย์ ฯลฯ เป็นคนอาเซียน เหมือนกัน ไม่มีความแตกต่างอะไรกันมาก เหมือนที่เรามองว่า ชาวต่างชาติเป็นฝรั่ง แขก นิโกร อาตี๋ อาหมวย ฯลฯ นั่นคือ มองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชิงภูมิภาคซึ่งมีความคล้ายคลึงกันทางเชื้อชาติ สังคมวัฒนธรรม รวมถึงสินค้าส่งออกและจุดขายของภูมิภาค เช่น แหล่งท่องเที่ยว พืชเศรษฐกิจ ฯลฯ


ภาพที่เราจะได้เห็นกันอย่างชัดเจนในอนาคตอันใกล้ก็คือ การอยู่ร่วมกันในสังคมไทยที่จะมีความหลากหลายมากขึ้นอันเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี เพราะเมืองไทยน่าอยู่ เพื่อนบ้านก็อยากมาอยู่ มาเยี่ยมเยียน เพราะเมืองไทยเป็นแผ่นดินทอง ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ แหล่งท่องเที่ยวสวยงาม สาธารณูปโภคพื้นฐานครบ ครอบคลุมทั่วถึง คนไทยใจดี เป็นสยามเมืองยิ้ม คนต่างบ้านต่างเมืองก็อยากหนีร้อนมาพึ่งเย็นอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร เป็นการเปลี่ยนแปลงจากถิ่นกาดำ เป็นถิ่นกาขาว หมายถึง ในเมืองไทยจะไม่ได้มีแค่คนไทย แต่จะมีคนต่างด้าวเข้ามาอาศัย ทำมาหากินร่วมกับคนไทยมากขึ้น  เราจะได้เห็นร้านค้าที่มีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของ ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เป็นภาษาเพื่อนบ้าน กิจการที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าต่างด้าวยกเว้นคนไทยโดยเฉพาะ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่า กินข้าว ดูหนัง เดินห้าง ชอปปิ้ง พบปะสังสรรค์ ฯลฯ ก็จะมีชาวต่างชาติีที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวมาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมไทยมากขึ้น เยาวชน รุ่นลูกรุ่นหลานก็จะเป็นเด็กลูกครึ่งพันธุ์ผสมระหว่างไทย-เพื่อนบ้าน ธุรกิจเกิดใหม่ก็จะมีการร่วมทุนระหว่างไทย-ต่างชาติ หรือแม้กระทั่งอาจจะมีพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ที่เป็นฐานเสียงจากคนต่างด้าวโอนสัญชาติเข้ามาร่วมสังฆกรรมในแวดวงการเมืองไทยในอนาคตก็เป็นได้

ถึงแม้เราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่นั่นก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเข้าสู่ AEC ก็ควรจะมีแผนการเตรียมตัวด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
โดยมีประเด็นหัวข้อสำหรับการเตรียมพร้อมดังนี้

1. การสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร (Employee Engagement )
2. การสร้างแบรนด์นายจ้างในระดับนานาชาติ ( International Employer Branding)
3. พัฒนากลยุทธ์ในการดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้กับองค์กร
4. การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้เป็นองค์กรที่น่าอยู่
5. พัฒนาทักษะบุคลากรด้านการทำงานข้ามวัฒนธรรมและความหลากหลาย
6. พัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานของบุคลากรในองค์กรให้มีความสามารถเทียบเท่าคนทำงานที่ได้ผลตอบแทนในระดับเดียวกันของประเทศอื่นในอาเซียน
7. พัฒนาทักษะด้านภาษาที่บุคลากรในองค์กรสามารถใช้ติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน
8. พัฒนาความพร้อมของบุคลากรในการเดินทางทั้งชั่วคราวและไปประจำยังต่างประเทศ
9. พัฒนาความสามารถของบุคลากรในการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารทุกรูปแบบเพื่อให้สามารถทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในประเทศต่างๆได้
10. บริหารความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม เมื่อต้องจ้างงานชาวต่างชาติมาทำงานในองค์กร
11. กำหนดให้มีหลักสูตรการฝึกอบรมภาคบังคับในการเตรียมความพร้อมให้พนักงานสามารถทำงานภายใต้
ความแตกต่างที่หลากหลาย
12. พัฒนาผู้บริหารให้มีความรู้ความเข้าใจและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขัน
13. ปรับเกณฑ์และเงื่อนไขในการคัดเลือกสรรหา เช่น ตั้งเกณฑ์การคัดเลือกพนักงานใหม่ให้มีสมรรถนะ(Competency) ที่พร้อมจะทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นสากล
14. การพัฒนาเงื่อนไขการจ้างงานที่เอื้อต่อการว่าจ้างพนักงานจากนอกประเทศเข้ามาทำงานในองค์กร
15. กำหนดให้การเลื่อนตำแหน่งต้องมีการวางเกณฑ์ของการเคยไปทำงานในต่างประเทศหรือรับผิดชอบงานด้านต่างประเทศ เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณา
16. เตรียมนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการส่งพนักงานไปประจำที่ต่างประเทศให้พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงี่อนไขเกี่ยวกับประโยชน์ตอบแทน
17. สร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรที่จะเตรียมแรงงานให้มีความพร้อมต่อการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตั้งแต่ยังอยู่ในสถาบันการศึกษา
18. เตรียมนโยบายด้านค่าตอบแทนที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น