วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
"ซิมโฟนี่" ขยายพื้นที่บริการชิงตลาดสื่อสารเร็วสูง
"ซิมโฟนี่" ประเมินปีหน้าตลาดสื่อสารเร็วสูงแข่งเดือด ทุ่มงบ 600 ล้าน เร่งขยายพื้นที่ให้บริการไฟเบอร์ออพติก หนุนโทรคม-บรอดแคสต์หวัง3จี ดันตลาด
"ซิมโฟนี่" ประเมินปีหน้าตลาดสื่อสารความเร็วสูงแข่งเดือด ทุ่มงบ 600 ล้าน เร่งขยายพื้นที่ให้บริการไฟเบอร์ออพติก หนุนกลุ่มธุรกิจโทรคม-บรอดแคสต์ หวัง 3จี ดันตลาดบริการสื่อสารเร็วสูงโตหลายหมื่นล้านบาท เดินหน้าขยายธุรกิจสู่อาเซียน เล็งทุ่มงบสร้างไซต์สำรองที่ "อมตะนคร" รับมือภัยพิบัติ
นายกรัณย์พล อัศวสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น กล่าวว่า ภาพรวมตลาดการให้บริการสื่อสารความเร็วสูง มีแนวโน้มการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งฟากของธุรกิจด้านบรอดแคสต์ และโทรคมนาคม ที่กำลังมีไลเซ่นให้บริการใหม่ๆ ออกมาในอนาคตอันใกล้ โดยบริษัทเตรียมทุ่มงบ 600 ล้านบาท ขยายโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
ปีนี้ บริษัทมีแผนการขยายพื้นที่ให้บริการไปยังจังหวัดเศรษฐกิจหลักๆ 10 จังหวัด เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต สงขลา เป็นต้น และจะขยายโครงข่ายบริการไปยังต่างประเทศด้วย เช่น มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และพม่า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น
"งบ 600 ล้าน เราเน้นขยายพื้นที่ให้บริการ ซึ่งเราพยายามดูพื้นที่ที่ลูกค้ามีความต้องการสูง และก็พื้นที่ที่มีโอกาส ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 รายต่อปี"
นายกรัณย์พล กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลประกอบการ 9 เดือนแรก เติบโตแล้วราว 17% คาดว่า สิ้นปีนี้ บริษัทจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีรายได้ราว 700 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ปีหน้าจะเริ่มรับรู้รายได้จากการขยายโครงข่ายไปยังประเทศในอาเซียนด้วย ถือเป็นการเตรียมพร้อมรับการเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี)
"รายได้หลักๆ ยังมาจากการให้บริการสื่อสารความเร็วสูงผ่านไฟเบอร์ออพติกกับลูกค้าในกลุ่ม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ผู้ประกอบการเคเบิลทีวี ลูกค้าองค์กรทั้งขนาดใหญ่ และเล็ก รวมถึง กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยหากปีหน้ามีการให้ไลเซ่นผู้ประกอบการทัั้งฝั่งบรอดแคสต์ และโทรคมก็คาดว่าจะช่วยดันให้ตลาดเติบโตและบริษัทจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก"
เขา กล่าวว่า ปัจจัยที่อาจทำให้ตลาดการสื่อสารความเร็วสูงในอนาคตไม่เติบโตมาก จะมาจากความไม่ชัดเจน และไม่ต่อเนื่องของนโยบายทั้งภาครัฐ และผู้กำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการวิทยุ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ประเมินว่า มูลค่าตลาดการให้บริการสื่อสารความเร็วสูงต่อปีมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
นายกรัณย์พล กล่าวต่อว่า บริษัทยังได้ไปเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เพื่อสร้างไซต์สำรอง รับมือการเกิดภัยพิบัติ โดยศูนย์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เป็นศูนย์ที่ดูแลลูกค้าฝั่งตะวันออกด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น