วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การเตรียมความพร้อมทางด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2558 ยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ทางด้านการจัดการโลจิสติกส์โดยอาศัยภูมิศาสตร์ของประเทศไทยซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ที่เอื้ออำนวยทำให้สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นได้ไม่ยากนัก เช่น เวียดนาม จีน สิงคโปร์ เป็นต้น ประเทศไทยจึงสามารถอาศัยยุทธศาสตร์ในเชิงพื้นที่ดังกล่าวในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์อาเซียนในการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกและไปยังตลาดโลกในอนาคตได้
สำหรับแนวทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านโลจิสติกส์ที่จะเจริญเติบโตมากขึ้นเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์ ในปัจจุบันพบว่ามีสถาบันการศึกษาของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์อย่างแพร่หลายมากขึ้น เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยรามคาแหง เป็นต้น อย่างไรก็ตามคณะหรือสาขาวิชาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควรในฐานะสาขาพิเศษที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศ

ในมิติทางด้านกฎหมาย ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนได้ทำความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าในประเทศอาเซียนหลายฉบับ เช่น ความตกลงว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ในประเทศที่ออกโดยประเทศอาเซียน (Agreement on the Recognition of Domestic Driving Licenses Issued by ASEAN Countries) ความตกลงว่าด้วยการยอมรับหนังสือรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ที่ใช้ในการพาณิชย์สำหรับรถบรรทุกสินค้าและรถบริการสาธารณะที่ออกโดยประเทศอาเซียน (Agreement on the Recognition of Commercial Vehicle Inspection Certificates for Goods Vehicles and Public Service Vehicles issued by ASEAN Member Countries) กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport) พิธีสารฉบับที่ 1 การกำหนดเส้นทางการขนส่งผ่านแดน พิธีสาร 3 ประเภทและปริมาณรถ พิธีสาร 4 ข้อกำหนดด้านเทคนิคของรถ พิธีสาร 5 แผนการประกันภัยรถภาคบังคับอาเซียน พิธีสาร 8 มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในการปฏิบัติตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน และพิธีสาร 9 สินค้าอันตราย เป็นต้น ความตกลงหรือพิธีสารเหล่านี้เป็นการทำความตกลงเพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยคำนึงถึงมิติด้านการขนส่งและมิติด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป
ทางด้านกฎหมายภายในประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์หลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เป็นต้น รวมถึงร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ พ.ศ… ร่างพระราชบัญญัติคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น พ.ศ.. เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์ของไทยพบว่ายังให้ความสำคัญกับมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก ทั้งๆ ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องการจัดการ โลจิสติกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า กรีนโลจิสติกส์ (Green Logistics) มหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายประเทศมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิต กระบวนการขนส่ง กระบวนการจัดการคลังสินค้าและกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในการกำหนดมาตรฐานด้านการจัดการโลจิสติกส์ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยกำหนดให้ทุกประเทศที่ต้องการจะทำการค้ากับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะต้องปฏิบัติตาม
ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรตรากฎหมายให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว เนื่องจากการกำหนดมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมจะส่งผลดีกับประเทศไทยในแง่การช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศไทยอีกด้วย สิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย ก็คือ การกำหนดยุทธศาสตร์และรูปแบบของกฎหมายหรือกฎระเบียบในการวางกฎเกณฑ์ทางด้านการจัดการ โลจิสติกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนและสร้างภาระให้กับผู้ประกอบธุรกิจเกินสมควร ซึ่งยุทธศาสตร์และกฎหมายดังกล่าวควรจะเป็นกฎเกณฑ์ที่สนับสนุนระบบการจัดการโลจิสติกส์ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันทางการค้าและสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน


อ่านต่อ: http://www.thai-aec.com/659#ixzz2sFbpLr7P

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น